สงกรานต์ในอุษาคเนย์ วัฒนธรรมร่วมที่ยังมีชีวิต

Songkran Traditional New Year Celebration In Thailand.

คนไทยร่วมพิธีชำระล้างเพื่อส่งท้ายสิ่งไม่ดีในปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ ณ วัดชัยศรี จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2024 (Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images) Source: NurPhoto / NurPhoto/NurPhoto via Getty Images

เมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเต็มไปด้วยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมที่แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่ล้วนสะท้อนรากวัฒนธรรมร่วมที่ลึกซึ้ง


เมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปี หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเต็มไปด้วยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิม ที่แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่ล้วนสะท้อนรากวัฒนธรรมร่วมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะการใช้ "น้ำ" เป็นสื่อกลางของการเริ่มต้นใหม่ ความบริสุทธิ์ และความชุ่มชื่นทั้งกายใจ

เอสบีเอสไทยพาคุณไปอ่านเรื่องราวของหนึ่งในประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีและปฎิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

สงกรานต์ไม่ใช่แค่ของไทย แต่เป็นประเพณีปีใหม่ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในกัมพูชา พม่า ลาว และเนปาล ซึ่งต่างก็มีพิธีกรรม กิจกรรม และความเชื่อเฉพาะตัวที่น่าสนใจ และยังคงสืบทอดในสังคมร่วมสมัยอย่างแข็งแรง

รากเหง้าของสงกรานต์: ศรัทธา น้ำ และสังคมเกษตรกรรม

ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ผู้สอนภาษาไทยและไทยศึกษา จากภาควิชา เพศสถานะ สื่อ และวัฒนธรรม แห่งมหาวิทยาลัย ANU ประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่า สงกรานต์ในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้นมีต้นทางจากอิทธิพลอินเดีย โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยวของสังคมเกษตรกรรมในประเทศแถบนี้

"เดือนเมษาเป็นช่วงที่ร้อนมากและเป็นปลายฤดูเก็บเกี่ยว คนในสังคมเกษตรจะได้พักผ่อน จึงเกิดเป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยอาหาร ความสนุก และการเฉลิมฉลอง"

ดร.จณิษฐ์ ยังชี้ให้เห็นถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ "น้ำ" ซึ่งปรากฏในแทบทุกประเทศที่ฉลองสงกรานต์
songkran-g1b2f92cbf_1280.jpg
การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานในช่วงสงกรานต์น่าจะเป็นประเพณีสมัยใหม่ เพราะไม่ปรากฎหลักฐานในบันทึกทางประวัติศาสตร์จากสมัยก่อน Source: Pixabay
"น้ำไม่ได้มีแค่ความเย็นชื่นใจ แต่เป็นตัวแทนของการชำระล้างสิ่งไม่ดี เสริมสิริมงคล เหมือนที่อินเดียมีความเชื่อเรื่องการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ในไทยเราก็มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งสะท้อนความเคารพและความบริสุทธิ์ในจิตใจ"

สงกรานต์แบบพม่า: แจนดีแจนและขนมซ่อนพริก

คุณ มู เลียง เถน จาก SBS Burmese เล่าว่า สงกรานต์ในเมียนมาเรียกว่า "ดินแจน" (Dingjan) หรือชื่อเต็มทางการคือ Atta de Jan Yed Bin Puedo ซึ่งจัดขึ้น 5 วัน โดยมี 3 วันที่ถือเป็นวันสำคัญที่สุดคือ วันก่อนปีใหม่ วันปีใหม่ และวันหลังปีใหม่

"สงกรานต์ของเมียนมามีธีมเฉพาะของตัวเอง ทั้งเพลง การแต่งกาย การเต้น และแม้แต่ขนมเฉพาะเทศกาล ซึ่งมีลูกเล่นสนุก ๆ อย่างใส่พริกลงในขนมหวานบางชิ้น ใครเจอก็เฮกันทั้งบ้าน"

MYANMAR-YANGON-NEW YEAR
ประชาชนร่วมพิธีสรงน้ำพระในวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินเมียนมา ที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2023 (Photo by Myo Kyaw Soe/Xinhua via Getty Images) Credit: Xinhua News Agency/Xinhua News Agency via Getty Ima
แม้จะเป็นช่วงเทศกาลแห่งความสนุก แต่สำหรับหลายคนสงกรานต์ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการทำบุญ การล้างพระพุทธรูป และดูแลผู้สูงอายุ

"สงกรานต์คือการชำระล้างทั้งกายและใจ เพื่อล้างความโชคร้ายออกจากปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ด้วยใจที่เบาสบาย"

ปีใหม่แบบเขมร: กลับบ้าน ถวายข้าว และละเล่นกลางหมู่บ้าน

คุณโสภารานี จาก SBS Khmer เล่าว่า คนกัมพูชาเรียกเทศกาลปีใหม่นี้ว่า "บ็อนโจลชนัมเขมร์" (Bon Chol Chhnam Khmer) ซึ่งจัดขึ้นในช่วง 13–15 เมษายน โดยคนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปทำบุญร่วมกับครอบครัว

"ทุกคนจะไปวัดด้วยกัน เพื่อถวายอาหารแด่พระสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ"

กิจกรรมอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการละเล่นพื้นบ้าน งานวัด ดนตรี และขบวนแห่กลางหมู่บ้าน ซึ่งมักจัดต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน

"อาหารประจำเทศกาลคือข้าวเหนียวห่อใบตองคล้ายบ๊ะจ่าง มีไส้กล้วยหรือถั่วเขียวกับหมู เป็นกิจกรรมรวมกลุ่มที่ทำกันก่อนวันปีใหม่ เป็นการรวมพลังของชาวบ้านที่อบอุ่นมาก"

เนปาลก็มีปีใหม่: นายาบาร์ชาและบิสเกตจาตรา

คุณเดนิตา จาก SBS เนปาล เล่าว่าชาวเนปาลมีปีใหม่ที่เรียกว่า “นายาบาร์ชา” หรือ “นาวาบาร์ชา” ซึ่งตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายนเช่นกัน โดยวันปีใหม่คือวันที่ 1 เดือนไบซัค ตามปฏิทินเนปาลที่ใช้ระบบจันทรคติผสมสุริยคติ

"ปีนี้ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เป็นปี 2082 ตามปฏิทินเนปาล"

แม้จะเป็นวันหยุดราชการแค่วันเดียว แต่หลายชุมชนก็เริ่มฉลองตั้งแต่คืนก่อนหน้า บางพื้นที่มีเทศกาลใหญ่ชื่อว่า "บิสเกตจาตรา" ที่มีการแห่รถเทพเจ้า เต้นรำ และพิธีเจาะลิ้นเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
'Sindur Jatra' festival in Nepal
ชาวเนปาลมีปีใหม่ที่เรียกว่า “นายาบาร์ชา” หรือ “นาวาบาร์ชา” ซึ่งตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายน Source: Anadolu / Anadolu/Anadolu via Getty Images
"คนเนปาลจะทำความสะอาดบ้าน ใส่เสื้อผ้าใหม่ รวมตัวกับครอบครัว และกินอาหารพื้นบ้าน เช่น ข้าวบีบ แกงเนื้อ และขนมเซลโรตีที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า"

แม้อยู่ในออสเตรเลีย ชุมชนชาวเนปาลยังรวมตัวฉลองในวัดหรือศูนย์วัฒนธรรม บางคนจัดงานเล็ก ๆ กับเพื่อนฝูงในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อรักษารากวัฒนธรรมไว้ไม่ให้เลือนหาย

สงกรานต์ที่เพนกวิน: งานบุญในเมืองเล็กๆ

ที่เมืองเพนกวิน รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย คุณ เพ็ญนภา จิตรกสิกร ฮอลล์ (เพนนี) และชาวไทยในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์เป็นปีที่สอง โดยมีผู้เข้าร่วมงานราว 250 คน ทั้งคนไทยและชาวออสเตรเลียในท้องถิ่น

"ปีนี้อากาศไม่ค่อยเป็นใจ คนอาจน้อยกว่าปีที่แล้วนิดหน่อย แต่บรรยากาศยังคงสนุกสนานและอบอุ่นเหมือนเดิม"

จุดเริ่มต้นของงานนี้เกิดจากความตั้งใจของพี่เพ็ญที่เห็นว่าในพื้นที่แทบไม่มีงานบุญหรืองานสังสรรค์ของชุมชนไทยเลย เธอจึงเริ่มจัดงานเล็ก ๆ ที่บ้าน โดยเชิญพระมาทำบุญและเปิดบ้านให้คนไทยในพื้นที่มาร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ จนค่อย ๆ พัฒนาเป็นงานที่เปิดสู่สาธารณะ

"ตอนอยู่บริสเบนพี่ไปวัดทุกอาทิตย์ แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยเห็นใครทำบุญบ้าน"

คิดว่าอยากชวนคนไทยมาร่วมกันทำบุญ ร่วมกันเฉลิมฉลอง มาสืบสานประเพณี
คุณ เพ็ญนภา จิตรกสิกร ฮอลล์
Penquine new year.jpeg
สงกรานต์ปี2025 ที่เมืองเพนกวิน รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย Credit: Supplied
แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน มีพิธีกรรมที่หลากหลาย และรสชาติอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่สงกรานต์ในภูมิภาคอุษาคเนย์และเอเชียใต้มีร่วมกัน คือ "การเริ่มต้นใหม่อย่างมีความหมาย" ที่เชื่อมโยงผู้คนกับครอบครัว ชุมชน ศาสนา และรากวัฒนธรรมของตน

LISTEN TO
SEA new year interview  image

สงกรานต์ในอุษาคเนย์ วัฒนธรรมร่วมที่ยังมีชีวิต

SBS Thai

20:16

สุขสันต์วันสงกรานต์จากทีมงาน SBS Thai ขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งความสุข ความหวัง และเต็มไปด้วยพลังค่ะ

ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่  หรือ และ   

Share

Recommended for you