แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของไทย แต่ยังทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้กับอาคารหลายแห่งโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
รวมถึงเหตุตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างถล่มลงมาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรายหลาย
โดยที่การรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย. มีการแจ้งว่าทีมกู้ภัยพบร่างผู้ประสบภัยเพิ่ม ทำให้ขณะนี้มีการยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิต 21 คนและอยู่ระหว่างค้นหาอีก 73 คน
ความเสียหายครั้งนี้ได้จุดกระแสคำถามถึงความพร้อมของระบบอาคาร ความปลอดภัย และการบริหารจัดการภัยพิบัติของไทยว่าเราพร้อมแค่ไหนต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดถี่ขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาคารสูงที่เราพักอาศัยมีมาตรฐานเพียงพอหรือไม่
แล้วเราสามารถเรียนรู้อะไรจากประเทศที่รับมือกับภัยพิบัติเป็นเรื่องปกติอย่างออสเตรเลียได้บ้าง?

ปฏิบัติการกู้ภัยและเคลียร์พื้นที่เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบที่อาคารสูงย่านจตุจักรถล่ม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2025 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย (Photo by Mailee Osten-Tan/Getty Images) Credit: Mailee Osten-Tan/Getty Images
คุณออย เจ้าของธุรกิจในเมลเบิร์น เล่าว่าเมื่อได้ยินข่าวแผ่นดินไหว สิ่งแรกที่เธอนึกถึงคือความปลอดภัยของคนในครอบครัวที่ยังอยู่ในไทย ไม่ใช่เรื่องทรัพย์สิน
ตอนนั้นประชุมอยู่ ก็ไม่รู้เรื่องเลยพอรู้ข่าวก็คือคิดแค่ว่าพ่อแม่ปลอดภัยไหม อยู่ที่ไหนคุณ ออย คนไทยในเมลเบิร์น
แต่หลังจากได้รับแจ้งจากโบรกเกอร์ว่ามีคอนโดในย่านบางซื่อได้รับความเสียหาย กระเบื้องหลุด พื้นพัง ก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านทรัพย์สินและเริ่มทยอยเข้าไปตรวจสอบโครงการที่ตัวเองเป็นเจ้าของ
คุณออยกล่าวว่าคอนโดเก่าที่ซื้อไว้นานกลับได้รับความเสียหายน้อยกว่าคอนโดใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งเตือนและความช่วยเหลือจากภาครัฐยังน้อยมาก และการสื่อสารกับผู้เสียหายยังไม่ชัดเจน
“ข้อมูลล่าช้า การแจ้งเตือนไม่ทั่วถึง”
คุณเจี๊ยบ นักธุรกิจในออสเตรเลียซึ่งเล่าว่าเธอมีมีญาติที่พักอยู่ในคอนโดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในย่านลาดพร้าว และจากการติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเธอมองว่าการจัดการของภาครัฐยังขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ
“เกิดเหตุไปแล้ว 4 ชั่วโมง ยังไม่มี SMS แจ้งเตือน ไม่มีข้อมูลจากทางการเลยค่ะ ประชาชนต้องหาข่าวเองหมด”
เธอยอมรับว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เฝ้าระวังแผ่นดินไหวอยู่แล้วภายใต้กรมอุตุนิยมวิทยา และมีรายงานความถี่ของแผ่นดินไหวรายเดือน แต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร
เรามีข้อมูล แต่ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ใช้อย่างไรคุณ เจี๊ยบ นักธุรกิจคนไทยในออสเตรเลีย
เตือนล่วงหน้า เล่นใหญ่ แต่สูญเสียน้อย
คุณเจี๊ยบ และคุณซินดี้ นักเรียนทุนรัฐบาลออสเตรเลีย ต่างสะท้อนตรงกันว่า ระบบการเตือนภัยและการสื่อสารของรัฐบาลออสเตรเลียมีความเป็นระบบและชัดเจนมากกว่า
“ที่ออสเตรเลีย น้ำท่วมหรือพายุจะมีการเตือนล่วงหน้าหลายวัน มีแผนชัดเจนว่าประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร ถึงแม้สุดท้ายจะไม่รุนแรง แต่ประชาชนก็พร้อมแล้ว”
คุณซินดี้กล่าวเสริมว่า การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในออสเตรเลียฝังอยู่ในระบบการศึกษาและการใช้ชีวิต เช่น การให้ข้อมูลความปลอดภัยตั้งแต่วันแรกที่นักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียน
“มีแอป มีการแจ้งเตือนทันสมัย และแจ้งด้วยภาษาที่ชัดเจนว่าเราควรทำอะไร ไม่ได้ทำให้คนตื่นตระหนก แต่ทำให้รู้ว่าควรรับมืออย่างไร”
สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย
คนไทยในออสเตรเลียทั้งสามคนยังเห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยควรสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่น การฝึกซ้อมภัยพิบัติในโรงเรียน หรือการเข้าถึงข้อมูลภัยพิบัติที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้จริง
คุณซินดี้เสนอว่า การกระจายความเจริญออกนอกกรุงเทพฯ และปรับแผนผังเมืองอย่างจริงจัง จะช่วยให้รับมือกับภัยธรรมชาติได้ดีขึ้นในอนาคต
ถ้าเกิดภัยพิบัติ แล้วคนแออัดอยู่ที่เดียว การช่วยเหลือก็เข้าถึงยาก แต่ถ้ากระจายออกไป สร้างพื้นที่น่าอยู่นอกเมือง ก็ลดความเสี่ยงได้เยอะคุณ ซินดี้ นักเรียนทุนรัฐบาลออสเตรเลีย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และรัฐบาล
ประเทศไทยมีทั้งข้อมูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ยังขาดคือ “การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ” และ “การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย” ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
LISTEN TO

บทเรียนแผ่นดินไหวเขย่าไทย : คนไทยไกลบ้านตั้งคำถามความพร้อมรับมือภัยพิบัติของทางการไทย
SBS Thai
14:30
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ
เรื่องราวที่น่าสนใจ

บ้านใหม่ของโขลงช้างไทยในออสเตรเลีย: ความผูกพันสู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน