*Disclaimer: ข้อมูลนี้เป็นเพียงแนวทางทั่วไป ไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการเงินหรือประกันภัยเฉพาะบุคคล ผู้ที่สนใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง
การมาเรียน ทำงาน หรือท่องเที่ยวในออสเตรเลียอาจเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น แต่หนึ่งในสิ่งสำคัญที่หลายคนมักมองข้ามก็คือ “ประกันสุขภาพ” เพราะค่ารักษาพยาบาลที่นี่อาจสูงเกินคาด หากไม่มีประกันไว้รองรับ
คุณ จินตนา นามวงค์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาดจากองค์กรด้านประกันภัยในออสเตรเลียอธิบายว่าประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาออสเตรเลียแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ OSHC (Overseas Student Health Cover) สำหรับผู้ถือวีซ่านักเรียน ซึ่งเป็นประกันภาคบังคับตามกฎของรัฐบาลออสเตรเลีย นักเรียนทุกคนต้องมีประกันประเภทนี้ตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่
“โดยปกติแล้วมันจะมี 2 ประเภทประเภทแรกเลยก็คือ หรือ OSHC ประกันสุขภาพ สําหรับนักเรียนนักเรียนค่ะ หรือชื่อเต็มคือ Overseas Student Health Cover ซึ่งเป็นประกันภาคบังคับ สําหรับนักเรียนต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียนซับคลาส 500 ที่มาเรียนที่ออสเตรเลียตามข้อกําหนดของทางรัฐบาลออสเตรเลีย”
ส่วนอีกประเภทคือ OVHC (Overseas Visitors Health Cover) สำหรับผู้ที่มาด้วยวีซ่าทำงานชั่วคราว วีซ่าเวิร์กแอนด์ฮอลิเดย์ หรือวีซ่าท่องเที่ยว แม้จะไม่ใช่ประกันบังคับ แต่ก็แนะนำอย่างยิ่งให้มีติดตัวไว้ เพราะหากเกิดเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาจสูงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ คุณ จินตนา แนะนำว่า
“อีกประเภทหนึ่งคือ OVHC หรือ Overseas Visitors Health Cove ซึ่งประกันตัวนี้จะมีไว้สําหรับวีซ่าทำงานชั่วคราว (Temporary working visa) ไม่ว่าจะเป็น (ซับคลาส) 485 หรือ 482 รวมถึงเวิร์คกิ้งฮอลิเดย์ (Working and Holiday) แล้วก็วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) ประกันตัวนี้ไม่ได้เป็นประกันบังคับ แต่แนะนําให้มีติดตัวไว้ดีกว่าเพราะว่าเวลาที่มาอยู่ที่ออสเตรเลียแล้วเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันก็จะเป็นตัวที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ”
อ่านเพิ่มเติม

ประกันสุขภาพเอกชน ทำไว้คุ้มค่าหรือไม่
ประกันสุขภาพต่างกับ Medicare อย่างไร?
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วประกันสุขภาพเหล่านี้ต่างจาก Medicare อย่างไร Medicare คือระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลออสเตรเลียที่ครอบคลุมการรักษาพื้นฐานสำหรับผู้ที่ถือสัญชาติออสเตรเลียหรือผู้อยู่อาศัยถาวรเท่านั้น
ส่วน OSHC และ OVHC เป็นประกันที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสถานะถาวร และแม้ว่าบางบริการจะได้รับการครอบคลุมในลักษณะเดียวกับ Medicare ผ่านระบบที่เรียกว่า MBS (Medicare Benefits Schedule) แต่สิทธิประโยชน์ก็จะน้อยกว่า คุณจินตนา อธิบายในประเด็นนี้ว่า
“สิ่งที่ประกันสุขภาพทั้งสองแบบครอบคลุมโดยทั่วไป ได้แก่ การพบแพทย์ทั่วไป (GP), พบแพทย์เฉพาะทาง, การตรวจเลือด, เอกซเรย์, ค่ายาบางประเภท และรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ รายละเอียดความคุ้มครองอาจแตกต่างกันไปตามแผนที่เลือกซื้อ โดยเฉพาะ OVHC ซึ่งมีให้เลือกหลายระดับ ตั้งแต่แบบเบสิกที่ครอบคลุมเฉพาะเหตุฉุกเฉิน ไปจนถึงแผนพรีเมียมที่ดูแลทุกด้านของสุขภาพ”
“หลายคนมักเข้าใจผิดว่าประกันเหล่านี้ครอบคลุมทุกอย่าง เช่น ทันตกรรม แว่นตา หรือกายภาพบำบัด ทั้งที่จริงแล้ว การคุ้มครองในส่วนนี้ต้องซื้อเพิ่มเติมในรูปแบบที่เรียกว่า “Extras” หากไม่ได้ซื้อเพิ่ม ก็จะไม่สามารถเคลมค่ารักษาส่วนนี้ได้ นอกจากนี้ การรักษาด้านสุขภาพจิตก็สามารถเคลมได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์ GP ก่อน ไม่สามารถเข้ารับบริการโดยตรงแล้วเคลมได้ทันที”
วิธีการเรียกร้องสินไหมประกันสุขภาพในออสเตรเลียทำอย่างไร
คุณ จินตนา อธิลายว่า ในการเคลมค่ารักษาพยาบาลนั้น หากใช้บริการคลินิกที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทประกันที่เราถืออยู่ ก็สามารถใช้สิทธิ์แบบไม่ต้องสำรองจ่ายได้ หรือที่เรียกว่า Direct Billing แต่หากไปคลินิกนอกเครือข่าย จะต้องสำรองจ่ายก่อนแล้วจึงนำเอกสารไปเคลมภายหลัง ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือการส่งเอกสารไม่ครบ เช่น ไม่มีใบเสร็จ หรือใบรับรองแพทย์ จึงทำให้การเคลมไม่ผ่าน
“โดยปกติแล้ววิธีการเคลมมันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกก็คือการ direct billing คือถ้ากรณีที่ไปใช้บริการคลินิกที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทางประกันที่ถืออยู่ จะสามารถใช้ประกันไปได้เลย โดยที่ไม่จําเป็นจะต้องสํารองจ่าย”
“กับอีกรูปแบบนึงก็คือกรณีไปใช้บริการคลินิกหรือใช้บริการแพทย์ที่ไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับทางประกันที่ตัวเองถืออยู่ อาจจะต้องมีการสํารองจ่ายไปก่อน พอหลังจากที่สํารองจ่ายไปแล้ว ก็สามารถนําใบเสร็จหรือตัวที่เป็นใบรับรองแพทย์มาเคลมทีหลังได้"
"วิธีการเคลม ก็คือสามารถเคลมผ่านแอพพลิเคชั่นของ ของประกันเจ้านั้นหรือผ่านเว็บไซต์ แต่ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยๆ คือถไปเคลมค่ารักษาพยาบาลที่มันไม่ได้ครอบคลุม เช่น ค่าทันตกรรมหรือค่าแว่นตาหรือค่าตรวจสายตา ซึ่งตัวประกันพื้นฐานมันจะไม่ได้โคฟเวอร์”

คุณ จินตนา นามวงค์ เจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านประกันภัยในออสเตรเลีย อธิบายข้อควรระวังเมื่อพิจารณาซื้อกรรมธรรม์และขั้นตอนเคลมประกันในออสเตรเลีย Credit: Supplied/Jintana Namwong
เมื่อเตรียมตัวสมัคร PR จะใช้ประกันสุขภาพแบบไหน
ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่วางแผนจะขอพีอาร์ควรเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เมื่อได้รับสถานะถาวรแล้วสามารถสมัคร Medicare ได้ทันที และควรยกเลิกประกัน OVHC เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน
หากต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น ทันตกรรม หรือการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ก็สามารถซื้อประกันเอกชนเพิ่มในภายหลังได้ คุณ จินตนา ให้ข้อมูลว่า
“โดยปกติแล้วคนที่ถือพีอาร์ก็จะได้รับสิทธิ์เมดิแคร์โดยอัตโนมัตินะคะ แนะนําว่าหลังจากที่ได้พีอาร์แล้วให้ทําการสมัครเมดิแคร์การ์ดเลย เพราะเมื่อมีการสมัครทุกอย่างเรียบร้อยแล้วให้ทําการยกเลิก OVHC ได้เลยค่ะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าประกันที่มันไม่จําเป็น หากต้องการประกันเพิ่มเติมให้มันโคฟเวอร์ด่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทันตกรรมหรือการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ก็สามารถซื้อ private health insurance เพิ่มเติมก็ได้
หากมีคำถามหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับความคุ้มครองของประกันสุขภาพ สามารถติดต่อบริษัทประกันโดยตรง หรือขอคำปรึกษาจากเอเจนต์ และในบางกรณี มหาวิทยาลัยก็มีบริการให้คำแนะนำด้านนี้ด้วยเช่นกัน
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ
เรื่องราวที่น่าสนใจ

คุยกับโอ พีรเดช ผู้พัฒนาการเรียนรู้ระบบของ Canva