ผลวิจัยชี้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระทางสุขภาพจิต

Sydneysiders experience heatwave conditions at Marrinawi Cove in Sydney (AAP)

ชาวซิดดนีย์กำลังเผชิญกับสภาวะคลื่นความร้อนที่ Marrinawi Cove Source: AAP / STEVEN MARKHAM

นักวิจัยเตือน อากาศที่ร้อนจัดกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพจิต โดยแพทย์ได้มีการเตือนถึงอันตรายจากความเครียดที่เกิดจากความร้อนมาอย่างยาวนาน และขณะนี้ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเพิ่มภาระของความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050


ติดตามข่าวสารในออสเตรเลียและทั่วโลกได้ที่

แพทย์ได้เตือนถึงอันตรายจากความร้อนจัดและความเครียดที่เกิดจากความร้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และขณะนี้ เหล้่นักวิจัยระบุว่า จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นต่อสุขภาพจิตด้วย

ดร.จัสมิน หลิว จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ซึ่งเตือนว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเพิ่มภาระของความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

“ตราบใดที่เราตระหนักว่านี่เป็นปัญหา และมันจะแย่ลง พร้อมทั้งเข้าใจถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อแระบบสาธารณสุขแล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือเราจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถปรับตัวและลดผลกระทบได้”
ไซมอน ควิลตี้ นักวิจัยด้านความร้อนและสุขภาพจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในแคนเบอร์รา กล่าวว่า เขาเคยเห็นผลกระทบจากความร้อนจัดขณะทำงานเป็นแพทย์ในเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี

“การที่อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความหุนหันพลันแล่นและการตัดสินใจที่ไม่ดี ซึ่งเป็นผลกระทบที่ละเอียดอ่อนในระดับบุคคล แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ อัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน และตัวชี้วัดอื่น ๆ ของความเครียดทางจิตและสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว จะพุ่งสูงขึ้นในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กับความสามารถของผู้คนในการรับมือและหลีกเลี่ยงความร้อน ซึ่งนำไปสู่ความจริงที่ว่า ผู้ที่ยากจนและมีทรัพยากรน้อยกว่าเอง ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความร้อนได้ง่ายเหมือนกับผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่า”

รองศาสตราจารย์เกลน ฮอสกิ้ง (Glen Hosking) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลาโทรบ ในเมลเบิร์น กล่าวว่า หนึ่งในผลกระทบเชิงลบของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นคือความวิตกกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เขากล่าวว่าเมื่อมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภาวะโลกร้อน ความวิตกกังวลจะยิ่งเพิ่มขึ้น

“ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศส่วนมากนั้น เกิดจากความไม่แน่นอนว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยในเรื่องความวิตกกังวลของผู้คนได้อย่างมาก ก็คือ การที่พวกเขารู้สึกว่าผู้กำหนดนโยบายจะมีการลงมือควบคุม มีแผนรับมือ และสามารถจัดการและบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ได้”
ทางด้านไซมอน ควิลตี้ (Simon Quilty) กล่าวว่า สภาพของบ้านเช่าสาธารณะในเมืองอลิซสปริงส์ (Alice Springs) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายพลาดโอกาสในการลดภาระด้านสุขภาพจากความร้อนจัด

เขากล่าวว่าไม่มีบ้านเช่าสาธารณะหลังใดที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเลย

“ผลกระทบจากความร้อนจัดจะส่งผลกระทบต่อไปทั่วทั้งชุมชนหากไม่มีการจัดการ ดังนั้นสำหรับผม การไม่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในเมืองอย่างแอลิซสปริงส์นั้นเป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในเยอรมนี บ้านเช่าสาธารณะส่วนใหญ่จัมีแผงโซลาร์บนหลังคา เพราะรัฐบาลเยอรมนีตระหนักว่าผู้คนกำลังตกที่นั่งลำบาก และปัญหาเหล่านี้ก็จะแผ่ขยายไปทั่วชุมชน โดยพื้นที่อลิซสปริงส์นั้น มีอัตราการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เรากลับไม่เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านเช่าสาธารณะ” เขากล่าว

โดยในระดับบุคคลนั้น หากผู้คนโชคดีมากพอที่จะมีเครื่องปรับอากาศ เขากล่าวว่าควรพิจารณาตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 26 หรือแม้แต่ 27 องศาเซลเซียส แทนที่จะตั้งให้ต่ำกว่า

“หากอุณหภูมิภายนอกนั้นร้อนจัด และคุณนั่งอยู่ในบ้านโดยตั้งเครื่องปรับอากาศให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ล่ะก็ ร่างกายของคุณจะลำบากเพราะคุณจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศภายนอกได้ ดังนั้น หากคุณตั้งเครื่องปรับอากาศให้ร่างกายเคยชินที่อุณหภูมิประมาณ 25 หรือ 26 องศาเซลเซียส และใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับอุณหภูมิที่สบาย ๆ เช่นนี้ ความรู้สึกช็อกเมื่อจำเป็นต้องเดินออกจากห้องไปข้างนอกก็จะไม่รุนแรงนัก” เขากล่าว


Share