ประเด็นสำคัญ
- ควรกลับเข้าบ้านเมื่อมีการประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตรวจสอบความเสียหาย ระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้าและสัตว์ที่ 'ไม่ได้รับเชิญ'
- บันทึกความเสียหายทั้งหมดก่อนทำความสะอาด เพื่อใช้เรียกร้องค่าสินไหมจากประกัน
- ทำความสะอาดให้บ้านแห้ง เพื่อป้องกันเชื้อรา ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวทั้งหมด และควรสวมชุดป้องกันขณะทำความสะอาด
- การฟื้นตัวมักใช้เวลา ขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต หากจำเป็น
เมื่อภัยพิบัติผ่านไป สิ่งแรกที่ทุกคนอยากทำคือกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเสมอ
กรณีที่คุณอพยพ หลังมีคำประกาศฉุกเฉิน ควรรอให้หน่วยงานฉุกเฉินของรัฐ (State Emergency Service หรือ SES) ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสียก่อน
ดอโรธี แทรน เจ้าหน้าที่พัฒนาศักยภาพชุมชนจากหน่วยงาน SES รัฐนิวเซาท์เวลส์ เตือนว่า อย่าชะล่าใจ
“สำรวจพื้นที่รอบตัวว่าอาจมีอันตรายแฝงอยู่หรือไม่ เช่น ต้นไม้ล้ม สายไฟที่อาจยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ หรือแม้แต่น้ำที่ยังขังอยู่บนถนน อย่าขับรถฝ่าน้ำท่วม เดินทางเมื่อแน่ใจว่าปลอดภัย หรือรออีกสักนิดก็ยังดีกว่าเสี่ยง”

ควรสวมเครื่องมือป้องกันทุกครั้งที่ทำความสะอาด Credit: Glenn Hunt/Getty Images
เมื่อถึงบ้านแล้ว ควรตรวจสอบโครงสร้างภายนอกอย่างละเอียดก่อนจะก้าวเข้าไปด้านใน โดยเฉพาะหากมีเด็กหรือสัตว์เลี้ยง
แทรนแนะนำให้ปิดระบบไฟฟ้าและแก๊สเป็นอันดับแรก
“ใช้ไฟฉายส่องก่อนจะเข้าไปในบ้าน อย่าเพิ่งแตะปลั๊กไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ เพราะสายไฟอาจได้รับความเสียหายจากน้ำหรือกิ่งไม้ ควรให้ช่างไฟมืออาชีพมาตรวจสอบก่อนเปิดใช้งานจะปลอดภัยกว่า”
ระหว่าง ควรสวมรองเท้ากันลื่น ถุงมือ และเสื้อผ้าแขนยาวเนื้อหนา เพื่อป้องกันบาดแผลหรืออันตรายที่มองไม่เห็น
พึงระวัง 'แขกไม่ได้รับเชิญ' ไม่ว่าจะเป็นนก กบ หรือสัตว์มีพิษอย่างงูและค้างคาว ซึ่งควรให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการ
สำหรับบ้านที่ทำประกันไว้ ควรบันทึกหลักฐานความเสียหายให้ละเอียดที่สุด ก่อนเริ่มทำความสะอาด ถ่ายภาพ วิดีโอ และจดรายการทรัพย์สินที่เสียหายให้ครบถ้วน
แมทธิว โจนส์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์จากสมาพันธ์ประกันภัยออสเตรเลียระบุว่า ควรติดต่อบริษัทประกันทันที แม้จะยังไม่ประเมินความเสียหายทั้งหมดได้ก็ตาม
“ไม่ต้องรอให้รู้รายละเอียดทั้งหมด ควรแจ้งบริษัทประกันให้เร็วที่สุดเพื่อเริ่มกระบวนการเคลม จะช่วยให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคดีของคุณ และทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น”
บางบริษัทอาจมีเงินเยียวยาเบื้องต้นสำหรับค่าอาหาร ที่พัก หรือของใช้จำเป็น
นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ผ่านเว็บไซต์ ด้วย ซึ่งจะมีการอัปเดตเป็นระยะ
เอริน เพลลี ผู้จัดการฝ่ายฟื้นฟูและแนะนำว่า ควรติดตามข้อมูลจากหลายช่องทาง ทั้งเทศบาล หน่วยงานรัฐ หรือผู้ให้บริการในพื้นที่ เพราะความช่วยเหลืออาจมีเพิ่มเติมในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดควรเริ่มโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันเชื้อรา
เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท และเมื่อระบบไฟฟ้าใช้งานได้ ควรใช้พัดลมหรือเครื่องลดความชื้นช่วยเร่งการแห้ง
ทุกพื้นผิวที่สัมผัสน้ำท่วมต้องได้รับการฆ่าเชื้ออย่างทั่วถึง ควรทิ้งอาหารที่สัมผัสน้ำท่วมทันที
แทรนอธิบายถึงสิ่งปนเปื้อนที่อาจมีมากกว่าที่คิด
“อย่าใช้ภาชนะที่สัมผัสน้ำท่วม อย่ากินอาหารที่เปียกน้ำ เพราะน้ำอาจมีสารเคมี ของเสียจากมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง”

คุณสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยการเป็นอาสาสมัครในองค์กรท้องถิ่น หรือยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนบ้าน Credit: Dan Peled/Getty Images
ดร.ไล เฮง ฟง แพทย์ฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำท่วม เช่น ท้องร่วงจากอาหารปนเปื้อน พิษคาร์บอนมอนอกไซด์จากเครื่องปั่นไฟ และโรคที่มียุงเป็นพาหะอย่างไวรัสรอสส์ริเวอร์ หรือไวรัสญี่ปุ่น
และการฟื้นตัวไม่ได้หมายถึงแค่บ้านสะอาดและไฟฟ้ากลับมาใช้ได้ แต่รวมถึงการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าที่หลายคนคาดไว้
เพลลีอธิบายว่า ผู้ประสบภัยต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องประกัน การสมัครขอเงินช่วยเหลือ การดูแลลูกที่โรงเรียนปิด หรือแค่ภาระงานบ้านที่เพิ่มขึ้นมหาศาล
แอนดริยานา มิลเลอร์ อาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์เล่าถึงเหตุการณ์ไซโคลนครั้งแรกในชีวิต ทำให้เธอนึกถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในบอสเนีย
“เสียงเครื่องปั่นไฟทำให้ฉันนึกถึงช่วงสงครามในบอสเนีย กลิ่นน้ำมัน การสั่นสะเทือน ทั้งหมดนั้นกลับมาเหมือนมันไม่เคยหายไปไหน”
อย่างไรก็ตาม เธอกลับได้รับพลังใจจากชุมชนรอบตัว
“ในกลุ่ม Facebook ของ Ocean Shores ทุกคนช่วยกันแชร์ข้อมูลว่า ถนนไหนน้ำท่วม ไฟดับ อินเทอร์เน็ตยังใช้ได้ไหม หรือถ้าใครต้องการของใช้สำหรับเด็ก มีคนช่วยตลอด เป็นเหมือนสายใยที่เชื่อมทุกคนไว้ด้วยกัน”

ผู้ประสบภัยมักต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน รวมถึงภาระงานบ้านที่เพิ่มขึ้น Credit: Dan Peled/Getty Images
“ส่วนใหญ่คนที่ช่วยเราคือเพื่อนบ้าน คนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ลองแนะนำตัว จัดปาร์ตี้ริมถนน หรือแค่ช่วยกันเข็นถังขยะ ก็สร้างความผูกพันได้แล้ว เพราะการมีคนคอยดูแลกันและกันคือรากฐานสำคัญของชีวิตหลังภัยพิบัติ”
บริการให้ข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิต 24 ชั่วโมง Beyond Blue 1300 224 636 หรือ
กด ▶ ฟังพอดคาสต์

ฟื้นเมือง ฟื้นใจ สิ่งที่ควรทำ หลังประสบพายุและอุทกภัย
SBS Thai
08:42
Australia Explained เป็นพอดคาสต์ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ในออสเตรเลีย