โครงการทุนร้อยล้าน ผลักดันผู้หญิงสู่สายงาน STEM มากขึ้น

Anandikaa Ramesh, a STEM student at Sydney University (SBS-Spencer Austad).jpg

อนันทิกา ราเมช นักศึกษาหญิงสาย STEM ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ Source: SBS / Spencer Austad

ผู้หญิงยังคงมีสัดส่วนเพียง 15% ในสายงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ในออสเตรเลีย โครงการใหม่มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์มุ่งผลักดันเพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสายงานนี้


อนันทิกา ราเมช ผู้อพยพจากศรีลังกากำลังศึกษาปริญญาตรี 2 ใบที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์

การเลือกเรียนด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และพาณิชยศาสตร์ถือเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา

“ในห้องเรียนการเขียนโปรแกรมของฉัน ผู้หญิงมักจะเป็นกลุ่มน้อยค่ะ ในชั้นเรียนประมาณ 20 คน มีผู้หญิงแค่ 4 คนเท่านั้น”
Female student looking through a microscope at the university lab
นักศึกษากำลังส่องกล้องจุลทรรศน์ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในขณะที่เรียนสาขา STEM Credit: Getty Images/Andresr
อย่างไรก็ตาม อนันทิกาคุ้นเคยกับเรื่องนี้ดี เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงไม่กี่คนที่เรียนคณิตศาสตร์ระดับสูง ที่โรงเรียนมัธยมเพนริธ ซีเลคทีฟ ทางตะวันตกของซิดนีย์

“ฉันชอบและเก่งคณิตศาสตร์มากค่ะ ฉันชอบการแก้ปัญหา แล้วฉันก็เป็นคนที่มีตรรกะ การเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์มันเกี่ยวข้องกับตรรกะและอัลกอริธึม ซึ่งฉันชอบมาก ส่วนพาณิชยศาสตร์ก็เป็นความสนใจอีกด้านหนึ่งของฉัน เลยตัดสินใจเรียนทั้งสองอย่างด้วยกันค่ะ”

อนันทิกาเป็นหนึ่งใน 37% ของผู้หญิงที่ลงทะเบียนเรียนสาขา STEM ในระดับมหาวิทยาลัย และเธอหวังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น

“ฉันอยากเป็นแบบอย่างให้กับผู้หญิงทุกคน รวมถึงคนที่มาจากพื้นเพชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพเหมือนกับฉันค่ะ”
University of Sydney
มหาวิทยาลัยซิดนีย์ Source: AAP
เชน กริฟฟิน รองคณบดีมหาวิทยาลัยซิดนีย์ใช้เวลาร่วม 2 ปีพัฒนาโครงการ STEM ซึ่งสนับสนุนนักศึกษาจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับเรื่องนี้
ยังไม่มีโครงการใดที่สนับสนุนนักเรียนตลอดช่วงมัธยม ทั้งในด้านการให้คำแนะนำและการเงิน เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย นี่คือโครงการระยะยาวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อคนจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะผลิตบัณฑิตเพิ่มอีกกว่า 300 คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น แต่เป็นโครงการที่น่าตื่นเต้นมากครับ
กริฟฟิน รองคณบดีมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นผลจากเงินบริจาคมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ จากโรบิน คูดา ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี

“โรบินเคยเป็นนักเรียนต่างชาติจากบังกลาเทศ เขาเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนความหลากหลายในบริษัทของเขา และหาวิศวกรหญิงหรือวิทยาศาสตร์หญิงได้ยาก นายจ้างจำนวนมากพูดแบบเดียวกันว่าไม่มีผู้หญิงเรียนจบ STEM มากพอมาเป็นเวลานาน การที่เราสามารถสนับสนุนและเพิ่มจำนวนกลุ่มคนเหล่านี้ได้ถือเป็นเรื่องดีมากครับ”
Carrying out stem cell research in the lab (SBS).jpg
การวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดในห้องปฏิบัติการ Credit: SBS
กริฟฟินระบุว่าการบริจาคครั้งนี้ถือเป็นการบริจาคครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือผู้หญิงในสาย STEM ระดับโลก

“นี่คือเงินบริจาคที่ใหญ่ที่สุดที่มหาวิทยาลัยเคยได้รับ และเท่าที่เราทราบก็เป็นการบริจาคที่ใหญ่ที่สุดที่เน้นสนับสนุนผู้หญิงใน STEM โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนท้องถิ่น และทางมหาวิทยาลัยรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ”

โครงการนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ และตั้งเป้าจะให้ความช่วยเหลือนักเรียนกว่า 40,000 คน โดยจะมีนักเรียนกลุ่มนำร่องเริ่มเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในปี 2027

ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจาก แซลลี-แอนน์ วิลเลียมส์ ซีอีโอของ Cicada Innovations และประธานการทบทวน “เส้นทางสู่ความหลากหลายใน STEM (Pathway to Diversity in STEM)” ของรัฐบาลสหพันธรัฐ

“ฉันขอชื่นชมโรบิน คูดา และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ที่ใช้แนวทางนี้ในการจะเปลี่ยนอัตราส่วนของผู้หญิงในสายวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ และ STEM ซึ่งถือว่าน่ายินดีมาก เพราะนั่นคือหนึ่งในข้อเสนอแนะหลักของเราค่ะ”
อย่างไรก็ตาม วิลเลียมส์ระบุว่ายังต้องการความช่วยเหลืออีกมากเพื่อเพิ่มความหลากหลายทั้งในภาครัฐและเอกชน

“ยังคงมีความเหลื่อมล้ำขนาดใหญ่ในบางสาขาของ STEM ในออสเตรเลีย เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและกลุ่มที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ ความความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในแง่ความคิดและประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพศ พื้นฐานเศรษฐกิจ สังคม หรือพื้นที่ภูมิภาค งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าทีมที่มีความหลากหลายให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าและมีความสำเร็จสูงกว่า สำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการกำหนดนโยบาย เพราะควรมีการพิจารณาจากมุมมองทุกด้าน”

สำหรับอนันทิกา ราเมช เธอจะเรียนจบวิศวกรรมและพาณิชยศาสตร์ในปี 2028 เป้าหมายของเธอคือการทำงานในสายเทคโนโลยีด้านการเงิน และเธอหวังว่าจะมีผู้หญิงอีกหลายคนในสายงานเดียวกับเธอ

“ผู้หญิงจำนวนมากไม่รู้เลยว่า วิศวกรรมคืออะไร วิศวกรทำงานอะไร นั่นคือเหตุผลที่พวกเธอไม่เข้าสู่สายงานนี้ ดังนั้น ถ้าเด็กผู้หญิงด้วยกันเห็นผู้หญิงคนอื่นทำงานในสาย STEM มากขึ้น พวกเธอก็จะมีกำลังใจสมัครเข้ามามากขึ้นค่ะ”


ติดตามเอสบีเอส ไทย ได้อีกทาง | |

ฟังพอดคาสต์ของเอสบีเอส ไทยผ่านแอปพลิเคชัน SBS Audio ดาวน์โหลดจาก หรือจาก  

Share

Recommended for you