รัฐบาลพรรคแรงงานประกาศงบประมาณงบประมาณกลางปี 2025–26 ก่อนครบวาระแรกในวานนี้ (25 มี.ค.) โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จิม ชาลเมอร์ส กล่าวว่าหนึ่งในมาตรการสำคัญคือการลดหย่อนภาษีเงินได้ ซึ่งเขาแถลงว่า
“ผู้เสียภาษีทุกคนในออสเตรเลียจะได้ลดหย่อนภาษีต่อเนื่องในปีหน้าและปีถัดไปนโยบายนี้เสริมจากการลดภาษีที่เริ่มไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม และจะทำให้อัตราภาษีขั้นแรกต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี”
สำหรับผู้มีรายได้ระหว่าง 18,201 ถึง 45,000 ดอลลาร์ ส่วนปีหน้าอัตราภาษีจะลดจาก 16% เหลือ 15% และในปีถัดไปจะลดลงอีกเหลือ 14%
และสำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 45,000 ดอลลาร์ต่อปี จะได้รับเงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 268 ดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 536 ดอลลาร์ ในปีถัดไป
รัฐมนตรีคลัง ยังระบุว่า นี่เป็นการต่อยอดจากมาตรการลดค่าครองชีพที่เริ่มใช้ไปแล้ว เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับทุกครัวเรือน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังทุ่มงบ 8.5 พันล้านดอลลาร์ เสริมบริการ bulk billing หรือการรักษาฟรีผ่าน Medicare และ ลดราคายา ภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์ด้านเวชกรรม (PBS) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลของประชาชน
แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือหลายด้าน แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยภายนอก เช่นสงครามในต่างประเทศ ดร.จิม ชาลเมอร์ส กล่าวว่า
“เรายังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับโลก ทั้งสงครามในยุโรปตะวันออก ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และความเสี่ยงของสงครามการค้าโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น"
พร้อมชี้ว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเหมือนในอดีต แต่เป็นความท้าทายที่ต่อเนื่องมาตลอดยุค 2020 ตั้งแต่โควิด-19 ไปจนถึงวิกฤตเงินเฟ้อและสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามรัฐบาลคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 2.5% ในปีนี้ ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 3% ด้านงบประมาณที่มีการรายงานว่ายังคงขาดดุล โดยปีนี้คาดว่าจะติดลบกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์และอาจยังอยู่ในภาวะขาดดุลต่อเนื่องไปอีกนานนับสิบปี
มุมมองจากนักวิชาการ
เอสบีเอสไทย ยังได้ไปสัมภาษณ์มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและนวัตกรรม ดร.วันนิวัติ ปันสุวงค์ จาก University of South Australia ที่จะมาช่วยวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจของรัฐบาล มาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงนโยบาย Buy Australian ที่ถูกพูดถึงอีกครั้งในเวทีงบประมาณปีนี้
ดร.วันนิวัติ ชี้ว่าการรายงานงบประมาณของรัฐบาลกลางน่าจะมุ่งเน้นการแก้ไขเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย มาตรการภาษี และการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก
“การรายงานงบประมาณของรัฐบาลของอัลบานีซีที่น่าจับตามองคือเรื่องของ Housing Price เป็นเรื่องของ cost ที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของภาวะที่เราหาบ้านยาก ทําให้เกิดวิกฤตเรื่องของที่อยู่อาศัย"
"สองคือเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทันเท่ากับของความผันผวนที่เกิดขึ้น รัฐบาลน่าจะมีการใช้มาตรการทางด้านภาษีที่ไปช่วยบรรเทาให้ภาคเอกชนสามารถลดต้นทุนในการผลิตให้ถูกลงเพื่อให้ราคาสินค้าที่จะขายให้ผู้บริโภคถูกลงและจะทำอย่างไรให้ทําให้ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้สามารถขยายตัวและผลิตได้อย่างต่อเนื่อง”
ดร. วันนิวัติยังแนะนำว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข้ามาสนับสนุนให้เรื่องของต้นทุนพลังงานรวมถึงมีนโยบายตั้งรับในการส่งออกสินค้าไม่ยังต่างประเทศ
“เรื่องของexport ที่ อาจจะต้องมีการตั้งรับนิดนึงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในอนาคต ก็จะส่งผลกระทบทําให้ภาวะเงินเฟ้อหนักขึ้น ค่าครองชีพของประชาชนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกเพราะว่าสินค้าส่งออกไปได้น้อยลง ราคาสินค้าของที่ส่งออกไปต่างประเทศก็จะสูงขึ้น"
"ที่สําคัญคือในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายทางด้านเรื่องของพลังงาน ซึ่งภาคธุรกิจส่งเสียมาว่าทำให้ต้นทุนพลังงานสูงซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงตามไปด้วย รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น”
ในประเด็นการรณรงค์การซื้อสินค้าในประเทศเช่น Buy Australian ที่รัฐบาลจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการสนับสนุนให้ประชาชนซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในออสเตรเลียภายใต้แนวคิดปลุกจิตสำนึกรักชาตินั้นคาดว่าจะประสบความสำเร็จเพียงใดในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ดร. วันนิวัติ ให้ความเห็นว่า
“ยุคของคนรุ่นใหม่เนี่ยไม่ได้มีความตระหนักรู้ถึงเรื่องของการรักชาติเหมือนเมื่อก่อน และตัวแปรที่สําคัญที่สุดก็คือการพฤติกรรมสาธารณูปโภคของคนมันขึ้นอยู่กับกําลังการซื้อเป็นหลัก"
"โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ค่าครองชีพ เงินกู้อัตราดอกเบี้ยจ่ายค่าบ้านที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการเอาไปทานข้าว การใช้ชีวิตนอกบ้าน มันมีราคาของดัชนีสินค้าที่คนต้องใช้จ่ายในราคาที่สูงขึ้นมันเลยทําให้การตัดสินใจของคนในการซื้อของจะเน้นไปที่สินค้าที่มีคุณภาพที่รับได้ ราคาที่ถูกกว่า”