เมื่อปี 2006 โขลงช้างไทยจำนวน 8 เชือกได้เดินทางข้ามทวีปมายังออสเตรเลีย ภายใต้โครงการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ช้างเอเชีย ซึ่งเป็นความร่วมมือของระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียในการเพิ่มประชากรช้างเอเชียที่ใกล้สูญพันธุ์และเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในสวนสัตว์ที่ออสเตรเลีย
โดยช้าง 5 เชือกเดินทางไปยังสวนสัตว์ทารองกา ที่เมืองซิดนีย์ และช้างอีก 3 เชือก ได้แก่ พังดอกคูน พังกุหลาบ และพังน้ำอ้อย เดินทางมายังสวนสัตว์เมลเบิร์น
ต่อมาในปี 2023 โขลงช้างไทยในสวนสัตว์เมลเบิร์นได้ต้อนรับช้างเกิดใหม่ 3 เชือกคือ พังไอยรา พลายรอยยิ้ม และพังกะทิ ลูกช้างทั้งสามกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของโครงการ และเป็นที่รักของผู้มาเยือนทุกวัย

'ไอยรา' 'กะทิ' 'รอยยิ้ม' ลูกช้างไทยกำลังเล่นน้ำในบ่อที่ Werribee Open Range Zoo Credit: Zoos Victoria/Jo Howell
อย่างไรก็ตาม ด้วยโขลงช้างที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้น สวนสัตว์เมลเบิร์นอาจไม่สามารถรองรับช้างอีก 3 เชือกที่กำลังเติบโตได้อย่างเหมาะสม โครงการย้ายช้างโขลงนี้ไปสวนสัตว์เปิดเวอร์ริบีจึงเริ่มขึ้น
$88 ล้าน สร้าง ‘เส้นทางสำรวจชีวิตช้าง’ ให้สมจริง
รัฐบาลรัฐวิกตอเรียได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงทุ่มงบประมาณกว่า 88 ล้านดอลลาร์กับการสร้าง ‘เส้นทางสำรวจชีวิตช้าง (Elephant Trail)’ บนพื้นที่ 21 เฮกตาร์ในสวนสัตว์เปิดเวอร์ริบี (Werribee Open Range Zoo) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติให้แก่โขลงช้างนี้ โดยมีแอ่งโคลน สระน้ำ บ่อทราย มีโรงเลี้ยงแยกช้างพังและช้างพลาย โรงนา รวมถึงสะพานลอยให้ช้างเดินข้ามทางเดินของผู้เยี่ยมชมด้วย

'Elephant Trail' บ้านใหม่ของโขลงช้างไทย ในพื้นที่ 21 เฮกตาร์ Credit: Zoos Victoria
“เราค้นคว้าดูการใช้ชีวิตของช้างในป่า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราในการพิจารณาตามหลักชีววิทยาของธรรมชาติ เพื่อที่เราจะได้จัดพื้นที่ให้ช้างได้เติบโต เราพยายามจำลองพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างในป่าให้ใกล้เคียงที่สุด เมื่อเราทราบกิจกรรมประจำวันของช้าง เช่น ช้างใช้เวลาเดิน หาอาหาร ว่ายน้ำ อาบฝุ่นนานเท่าใด จากนั้นจึงออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับกิจกรรมเหล่านี้”

ลูซี ทรูลสัน เจ้าหน้าที่ดูแลช้างไทยเกือบ 20 ปี Credit: SBS Thai
ภารกิจย้ายโขลงช้างครั้งประวัติศาสตร์
การเคลื่อนย้ายโขลงช้างทั้ง 9 เชือกเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ 21 คน ผู้เชี่ยวชาญ สัตวแพทย์ กรมขนส่ง และกรมตำรวจรัฐวิกตอเรีย รวมถึงการฝึกให้ช้างชินกับตู้ขนย้ายด้วย

ลูกช้างไทยขณะถูกฝึกให้คุ้นชินกับตู้ขนย้าย Credit: Zoos Victoria/Jo Howell
“การย้ายช้างทั้งโขลงเป็นเรื่องพิเศษมาก การเตรียมการย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว ตู้ขนย้ายได้รับการดัดแปลงให้เหมาะกับช้าง แม่ช้าง และลูกช้าง การเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การทำให้ช้างเคยชินกับการเข้าไปในกรง ทำตัวให้สบายใจ กินอาหารในกรง และอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เมื่อถึงวันที่ต้องย้ายช้าง ช้างจะรู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ในกรง พวกมันรู้ว่ากำลังทำอะไร”
การขนย้ายเริ่มขนย้ายพลายลูกชายก่อน ตามด้วยฝูงช้างพังทั้งโขลง แม่ช้างและลูกช้างถูกจัดให้อยู่ในตู้ขนย้ายเดียวกันเพื่อความอุ่นใจ โดยใช้เวลาการขนย้ายรวมทั้งหมด 5 วัน
ทรูลสันกล่าวว่าช้างทุกตัวปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ได้ดี พวกมันสงบ และพร้อมเริ่มต้นใหม่ในพื้นที่กว้างใหญ่นี้ แม้จะไม่คุ้นชินกับบ้านใหม่ในช่วงแรก แต่ก็พร้อมออกสำรวจพื้นที่ โดยเฉพาะลูกช้างทั้งสามที่มีความอยากรู้อยากเห็น
ช้างไทย สะพานเชื่อมวัฒนธรรมและมิตรภาพไทย-ออสเตรเลีย
โขลงช้างไทยในออสเตรเลียนับเป็นสื่อกลางในการส่งต่อความรู้ ความเข้าใจ และวัฒนธรรม ผ่านสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ
เอกอัครรราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา อาจารี ศรีรัตนบัลล์ กล่าวว่าช้างยังเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพทางการทูตและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอีกด้วย โดยการมีช้างไทยในออสเตรเลียเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้ชาวออสเตรเลียรู้จักประเทศไทยในอีกมิติหนึ่ง

เอกอัครราชทูตฯ อาจารี และเลขานุการเอก ณฐวรรษ เยี่ยมชม Elephant Trail โดยมีผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดฯ มาร์ค พิลกริมต้อนรับ Credit: Thai Embassy in Canberra, Australia
“ช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ ต้องมีพื้นที่ใหญ่เพื่อให้มีสภาพความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ การที่ช้างได้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น ก็ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ช้างได้ มีความเป็นอยู่ใกล้เคียงธรรมชาติได้เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ช้างไทยมีลูก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นสัญญาณที่ดีของการขยายพันธุ์ช้าง”
โดยเอกอัครราชทูตไทยฯ อาจารีได้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านใหม่ของโขลงช้างไทยที่สวนสัตว์เปิดเวอร์ริบีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
ความผูกพันและการอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
เครือสวนสัตว์รัฐวิกตอเรียมุ่งมั่นที่จะดูแลช้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายพันธุ์ช้างไทยด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของช้างตามธรรมชาติให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม หวังจุดประกายความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความปรารถนาที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ช้าง
ทรูลสันกล่าวถึงการดูแลโขลงช้างนี้มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีว่า
เรารู้สึกปลื้มใจที่ได้ดูแลช้างจากเอเชียโขลงนี้ และเรามีความผูกพันกับช้างแต่ละตัวในโขลงนี้ ทุกครั้งที่มีช้างเกิดใหม่ เราจะเฉลิมฉลองและตั้งชื่อให้พวกมันเป็นภาษาไทยด้วย เรามีลูกช้างสามตัวคือ ไอยรา รอยยิ้ม และกะทิ ซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อสองปีก่อน และเรารอคอยที่จะต้อนรับลูกช้างตัวอื่นๆ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับช้างในฝูงนี้อย่างที่พวกเขาสมควรได้รับทรูลสันกล่าว
และจาซินตา อัลลัน มุขมนตรีรัฐวิกตอเรียกล่าวถึง ‘เส้นทางสำรวจชีวิตช้าง’ แห่งนี้ว่าเป็นการสัมผัสประสบการณ์เยี่ยมชมช้างที่ดีที่สุดในโลก ที่รัฐบาลรัฐวิกตอเรียตั้งใจรังสรรค์ไว้ที่สวนสัตว์เปิดเวอร์ริบี

มุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย จาซินตา อัลลัน แถลงข่าวในวันเปิด Elephant Trail พร้อมรัฐมนตรี และผู้อำนวยการเครือสวนสัตว์รัฐวิกตอเรีย เจนนิเฟอร์ เกรย์ Credit: Zoos Victoria
กด ▶ เพื่อฟังพอดคาสต์เรื่องนี้

บ้านใหม่ของโขลงช้างไทยในออสเตรเลีย: ความผูกพันสู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
SBS Thai
01/04/202512:28