มันเป็นสถานการณ์ที่เปรียบเสมือนฝันร้าย เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งให้กำเนิดบุตรที่ไม่ใช่ของเธอเอง
คลินิกการเจริญพันธุ์ Monash IVF ยอมรับว่าผู้ใช้บริการรายหนึ่งได้รับตัวอ่อนที่ไม่ใช่ของตนเอง ส่งผลให้เธอตั้งครรภ์และคลอดบุตรของผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
คลินิกได้ทราบถึงเหตุการณ์นี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2025 เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นพ่อแม่โดยสายเลือดของเด็กคนดังกล่าวขอให้ย้ายตัวอ่อนที่เหลือไปยังผู้ให้บริการ IVF รายอื่น
ระหว่างที่คลินิกทำการนับจำนวนตัวอ่อน ก็ได้พบตัวอ่อนที่ไม่ตรงกับบันทึกของผู้ใช้บริการ
การสอบสวนในเวลาต่อมาพบว่าเกิดข้อผิดพลาดขณะทำการย้ายตัวอ่อน ซึ่งเกิดจากบุคลากรในคลินิก แม้คลินิกจะอ้างว่าปฏิบัติงานตาม “มาตรการด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เข้มงวด” แล้วก็ตาม
ไมเคิล แนป ประธานฝ่ายบริหารของ Monash IVF ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
“ในนามของ Monash IVF ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเราทุกคนต่างรู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง และเราต้องขออภัยต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะยังคงทำงานให้แก่ผู้ใช้บริการ ในช่วงเวลาที่เจ็บปวดนี้ นับตั้งแต่เราทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เราได้ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม และเรามั่นใจว่านี่เป็นเหตุการณ์เฉพาะราย เรากำลังเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยในคลินิกทั้งหมดของเรา และได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระขึ้น พร้อมมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามข้อเสนอแนะทั้งหมดอย่างเต็มที่”

การผสมเทียมในห้องทดลอง ระหว่างกระบวนการ IVF Source: AP / AP Photo
โดย Monash IVF ระบุว่าได้มอบหมายให้ ฟิโอนา แมคลีออด ที่ปรึกษาอาวุโสจากสภาทนายความอิสระในออสเตรเลียดำเนินการสอบสวนในครั้งนี้
ด้านสมาคมการเจริญพันธุ์แห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Fertility Society of Australia and New Zealand) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ระบุว่าได้รับทราบเหตุการณ์นี้แล้ว
โดยในแถลงการณ์ของโฆษกสมาคมระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก และคาดหวังให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใสจากทาง Monash IVF
“เหตุการณ์เช่นนี้ต้องมีการดำเนินการด้วยมาตรฐานความโปร่งใสสูงสุด ในการสอบสวนอย่างเข้มงวด พร้อมความมุ่งมั่นของภาคส่วนในการเรียนรู้และพัฒนา ขณะที่ยังคงต้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการด้วย ความเชื่อมั่นที่ผู้ใช้บริการมีต่อวิชาชีพของเราเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเราจะต้องพิสูจน์ตนเองอยู่เสมอผ่านการบริหารจัดการที่โปร่งใส ความรับผิดชอบร่วมกัน และการลงมือปฏิบัติ เราขอให้เคารพความเป็นส่วนตัวของครอบครัวที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานี้ ขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสมาคมฯ ระบุว่า ในปี 2021 มีทารกชาวออสเตรเลียกว่า 18,500 ราย ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
นายแพทย์หยิง หลี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์จาก Genea Sydney กล่าวว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก และเขาไม่เคยพบกรณีลักษณะเดียวกันนี้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
“ในกระบวนการสร้างและใช้งานตัวอ่อนนั้น จะมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างตัวอ่อน การติดป้ายชื่อ และการจัดเก็บ รวมถึงการตรวจสอบก่อนการใช้งานด้วย ทุกองค์กรต้องตรวจสอบระบบการระบุตัวตนของตนเองในทุกปี และยังต้องผ่านการตรวจสอบจากภายนอกประจำปี เพื่อรับรองคุณภาพในการให้บริการ IVF ในออสเตรเลีย”

การตั้งครรภ์จากการทำ IVF Source: AAP
“ภายใต้กฎหมายออสเตรเลีย ความเป็นพ่อแม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม แต่เป็นมารดาที่ให้กำเนิด และผู้ปกครองผู้ให้กำเนิดถือเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ดังนั้นใครก็ตามที่ให้กำเนิดเด็กก็จะถือเป็นมารดาหรือบิดาตามกฎหมาย ซึ่งสร้างความซับซ้อนทั้งด้านจริยธรรมและสังคมต่อครอบครัวและเด็กที่เกี่ยวข้อง”
ปัจจุบัน บริการ IVF อยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละมลรัฐและมณฑล แต่อุตสาหกรรมนี้ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลสหพันธรัฐและแนวทางจริยธรรมของประเทศ
ตัวอย่างเช่น รัฐควีนส์แลนด์เคยใช้ระบบกำกับดูแลด้วยตนเองมาเป็นเวลานาน
กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ได้ดำเนินการสอบสวนผู้ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับใบอนุญาต
และพบว่ามี “ปัญหาเชิงระบบที่มีนัยยะสำคัญ” ในการให้บริการ
ต่อมา รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ได้เสนอและผ่านกฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นฉบับแรกของรัฐ
ทั้งยังได้จัดตั้งทะเบียนข้อมูลการปฏิสนธิจากผู้บริจาค (Donor Conception Information Register) ซึ่งรวบรวมข้อมูลกระบวนการปฏิสนธิที่มีการคลอดบุตรในรัฐ
ศาสตราจารย์เอียน เฟรคเคิลตัน หนึ่งในผู้อำนวยการจากภาควิชาการศึกษา สุขภาพ และกฎหมายทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นระบุว่า ยังไม่เคยมีคดีตัวอย่างในออสเตรเลียที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีนี้
แม้จะเคยมีคดีความเกี่ยวกับการทำลายเซลล์สืบพันธุ์ และมีการฟ้องร้องสถานบริการบางแห่ง แต่ก็ไม่มีอะไรที่เทียบเคียงได้กับเหตุการณ์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดหน้าที่ หรืออีกนัยหนึ่งคือความประมาทเลินเล่อ ดังนั้น หากพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจยื่นฟ้อง คดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางกฎหมายศาสตราจารย์เฟรคเคิลตันกล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผู้หญิงใน NSW ที่รับบริการไอวีเอฟจะได้รับเงินช่วยเหลือ
ศาสตราจารย์เฟรคเคิลตันยังเสนอว่า ควรมีกฎหมายของรัฐบาลระดับสหพันธรัฐในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ มากกว่าการปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับรัฐและมณฑล
“เหตุผลที่มีกฎหมายแยกต่างหาก ซึ่งคล้ายคลึงกับกฎหมายครอบครัวของรัฐบาลกลาง เนื่องจากการผสมเทียมอยู่ภายใต้เขตอำนาจของมลรัฐหรือมณฑล กฎหมายในแต่ละพื้นที่นั้นมีรายละเอียดต่างกัน แต่ในกรณีนี้ รัฐควีนส์แลนด์และรัฐวิกตอเรียถือเป็นสองรัฐที่มีแนวปฏิบัติก้าวหน้าที่สุด”