พวกใคร่เด็กชาวออสเตรเลียยังคงพยายามออกนอกประเทศแม้มีมาตรการยกเลิกพาสปอร์ต

Investigations: กฎหมาย “ฉบับแรกของโลก” ได้ห้ามพวกใคร่เด็กชาวออสเตรเลียไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วถึง 2 หมื่นคน แต่มีอีกหลายสิบคนที่ยังคงพยายามเดินทางไปต่างประเทศ เอสบีเอส นิวส์ มีรายงานพิเศษเรื่องนี้

Sydney Airport (AAP)

บรรยากาศการเดินทางที่สนามบินซิดนีย์ Source: AAP

You can read the full article .

ผู้ชายชาวออสเตรเลียนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในย่านแปดเปื้อนราคีต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่นั่นเด็กๆ จำนวนมากถูกขายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากคำบอกเล่าของนายโทนี เคอร์วัน จากองค์กร เดสทินี เรสคิว (Destiny Rescue)

“มีหลายครั้งที่เราไปยังบาร์ ซ่องโสเภณี และอะโกโกบาร์ จะมีชาวออสเตรเลียอยู่ที่นั่น” นายเคอร์วัน กล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เดสทินี เรสคิว ขึ้น เพื่อปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“นั่นเป็นหนึ่งในสัญชาติที่เราพบมากที่สุดในสถานที่เหล่านั้น”

นายเคอร์วัน ซึ่งองค์กรการกุศลของเขา ได้ช่วยเหลือเด็กๆ มาแล้ว 3,000 ราย นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา จากประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย และอินเดีย เขากล่าวว่า เขายังไม่เห็นผลกระทบที่เด่นชัดเจนจากกฎหมายออสเตรเลีย “ฉบับแรกของโลก” ซึ่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก และพยายามเดินทางไปต่างประเทศ
Tony Kirwan has rescued around 3,000 children from sexual exploitation.
Tony Kirwan has rescued around 3,000 children from sexual exploitation. Source: SBS
แต่มีผู้ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก 29 คน ที่ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางที่สนามบินแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย นับตั้งแต่กฎหมายใหม่นี้มีเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย

กว่าครึ่งหนึ่งของการยกเลิกหนังสือเดินทางเหล่านั้น หรือระบุชัดเจนได้เลยว่า มีกรณีการยกเลิกหนังสือเดินทางเหล่านั้น 17 เล่ม เกิดขึ้นในช่วงเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้น แต่กรณีการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งหมดของผู้ใคร่เด็ก ที่พยายามเดินทางไปต่างประเทศ มีจำนวนเกือบ 800 รายในแต่ละปี หรือคิดเป็นจำนวน 2 คนต่อวัน จากการเปิดเผยของรัฐบาล ขณะที่เสนอร่างกฎหมายนี้สู่รัฐสภา

แม้จะมีความล่าช้าในกระบวนการยกเลิกหนังสือเดินทางอย่างเป็นทางการ แต่กระทรวงกล่าวว่า ยังคงมีการขัดขวางไม่ให้ผู้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กเดินทางไปต่างประเทศได้

“ขณะนี้ เป็นความผิดอาญาที่ผู้กระทำผิดจะเดินทางออกนอกออสเตรเลีย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์กรบังคับใช้กฎหมายต่างๆ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย กล่าว

“หากพวกเขาพยายามออกนอกประเทศ พวกเขาจะถูกขัดขวางที่พรมแดน และมีความผิดระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี”

จากจำนวนผู้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก 800 คน ที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2016 ราวร้อยละ 40 ของบุคคลดังกล่าวเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 1 ใน 3 ของบุคคลดังกล่าวเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบ แม้จะมีข้อบังคับระบุไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ที่ร้ายแรงของกฎหมายก่อนหน้านี้

 

‘ฮอลิเดย์เพื่อข่มขืนเด็ก’
มีผู้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กถึง 20,000 คนในออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามเดินทางออกนอกประเทศนี้

วุฒิสมาชิกเดอร์ริน ฮินช์ ของรัฐวิกตอเรีย ได้พยายามวิ่งเต้นขอเสียงสนับสนุนให้ยุติสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ฮอลิเดย์เพื่อข่มขืนเด็ก’ โดยเป็นการเดินทางไปยังประเทศในเอเชีย เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า เขาจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่ากฎหมายนี้ใช้งานได้ดีตามความคาดหวังหรือไม่

แต่จำนวนการยกเลิกหนังสือเดินทางที่ค่อนข้างต่ำก็อาจเป็นสัญญาณว่ากฎหมายนี้นั้นใช้การได้ดีอย่างที่ตั้งใจกันไว้ นายฮินช์ กล่าว
Independent Senator Derry Hinch
วุฒิสมาชิกเดอร์ริน ฮินช์ จากรัฐวิกเตอเรีย กล่าวว่า เขาจะจับตาดูกฎหมายใหม่นี้อย่างใกล้ชิด (Source: AAP) Source: AAP
“เราไม่รู้ว่ามีกี่คนที่ตัดสินใจไม่ลองเดินทางและอาจจะไม่ไปเลย เพราะขณะนี้เป็นความผิดทางกฎหมายแล้วในการที่จะพยายามและเดินทางไปต่างประเทศ” วุฒิสมาชิกฮินช์ กล่าว

เขายังได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาได้รับโทรศัพท์จากนายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ที่ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว

“เขาบอกผมว่า เดอร์ริน นี่มัลคอล์มนะ ผมแค่อยากให้คุณเป็นคนแรกที่รู้ว่าพวกเขาผลักดันบุคคลคนแรกกลับไปแล้วที่สนามบินซิดนีย์วันนี้” นายฮินช์ เล่า

“ผมต้องยอมรับเลยว่า ตอนนั้นผมยืนอยู่คนเดียวในห้องนั่งเล่นและผมก็ร้องไห้เลย”
Child sex offenders travelling overseas.
Child sex offenders travelling overseas. Source: SBS
โอกาสครั้งที่สอง
นางจูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวในขณะนั้นว่ากฎหมายใหม่นี้จะ “เพิ่มมาตรฐาน” ของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ให้สูงยิ่งขึ้น

แต่นายเบรตต์ คอลลินส์ ผู้พิทักษ์สิทธิของเหล่านักโทษ กล่าวว่ากฎหมายนี้ควรมุ่งเน้นมากขึ้นไปยังบุคคลที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเกรงว่ามีความเสี่ยงที่จะก่อเหตุสูง และไม่ใช่พุ่งเป้าไปยังทุกคนที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก

“เมื่อคนเหล่านี้ได้ติดคุกไปแล้ว พวกเขาควรได้รับโอกาสในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมใหม่ มันจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้คนจะได้รับโอกาสให้ปรับตัวให้สามารถเข้ากับชุมชนได้อีกครั้ง” นายคอลลินส์ ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไร จัสทิซ แอ็กชัน (Justice Action) กล่าว

นอกจากนี้ มีหนังสือเดินทางอีก 53 ฉบับที่ถูกยกเลิกไปในช่วงปีการเงินที่แล้ว ด้วยเหตุผลด้านการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ซึ่งในจำนวนนั้น 21 กรณีเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

นางเฮตตี จอห์นสตัน ผู้ก่อตั้ง เบรฟฮาร์ตส์ (Bravehearts) องค์กรการกุศลเพื่อปกป้องเด็ก กล่าวว่า เธอหวังว่าจะมีการยกเลิกหนังสือเดินทางของบรรดาผู้ใคร่เด็กมากขึ้น

“ฉันคิดว่ามันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวออสเตรเลียทุกคน มันเกือบเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของชาติ ที่เราจะไม่ส่งบรรดาผู้กระทำผิดของเราไปยังต่างประเทศ” นางจอห์นสตัน กล่าว

“เราไม่ต้องการให้ชาวออสเตรเลียเดินทางไปต่างประเทศและไปล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กๆ ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้”

 


Share
Published 10 September 2018 1:57pm
Updated 10 September 2018 5:20pm
By Jarni Blakkarly
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends