ไฟลต์ เซ็นเตอร์ (Flight Centre) หนึ่งในบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกแถลงการณ์เตือนว่า รายได้ในปีนี้อาจลดลงมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จากความต้องการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) บริษัทระบุถึง "สภาพการค้าแปรปรวน" ซึ่งอ้างอิงกับนโยบายการเข้าประเทศของสหรัฐฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลง
นี่ถือเป็นสัญญาณแรกจากบริษัทของออสเตรเลียที่สะท้อนว่าการเดินทางไปยังสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเริ่มหวาดระแวงจากการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวด ข่าวนักท่องเที่ยวถูกควบคุมตัว รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนชาวออสเตรเลียที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19
ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่ลดการไปท่องเที่ยวที่สหรัฐฯ แต่จากข้อมูลล่าสุดของเดือนมีนาคมจากฝั่งอเมริกาเผยว่า
นักท่องเที่ยวจากเยอรมนีลดลง 28%, สเปน 25%, สหราชอาณาจักร 18% และเกาหลีใต้ 15% โดยรวมแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ลดลงถึง 11.6%
แม้แต่ชาวแคนาดา ซึ่งเคยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ มากที่สุดมาตลอด ก็มีจำนวนลดลงกว่า 900,000 คน หรือราว 17% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่กระแสแบนการไปพักผ่อนที่อเมริกายังคงเพิ่มขึ้น
กระแสของนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียมกำลังแปรเปลี่ยน อเมริกาซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสและการผจญภัย กลับรู้สึก "ไม่เป็นมิตร" ต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเข้มบริเวณชายแดน การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวด และบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทำให้นักเดินทางจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัย
แม้ Flight Centre จะใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังในแถลงการณ์ แต่ซีอีโอ เกรแฮม เทอร์เนอร์ แถลงอย่างตรงไปตรงมาว่า:
“ผู้คนจากยุโรป สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ไม่อยากไปสหรัฐฯ แล้ว จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เราได้ยินจากลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไม่อยากเจอประสบการณ์การตรวจคนเข้าเมือง”
มีรายงานว่านักท่องเที่ยวถูกควบคุมตัว ใส่กุญแจมือ และส่งกลับประเทศที่สนามบินในสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาเล็กน้อยเกี่ยวกับวีซ่าหรือความเข้าใจผิด รวมถึงการตรวจค้นโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน
หลายประเทศเริ่มออกมาตอบสนอง โดยนิวซีแลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ต่างอัปเดตคำแนะนำการเดินทางไปสหรัฐฯ ให้ประชาชนระมัดระวังเป็นพิเศษ
เสียงสะท้อนจากสื่อต่างประเทศเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ที่ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่เดินทางไปง่าย ปลอดภัย หรือเป็นมิตรเหมือนในอดีต
แม้คำเตือนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะเริ่มดังขึ้น แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ยังไม่ถูกใส่ใจเท่าที่ควรจากประธานาธิบดีเมืองลุงแซม
การท่องเที่ยว: การส่งออกที่ถูกลืมของอเมริกา
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ เขากลับเพิกเฉยต่อบทบาทของภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เกินดุลของสหรัฐฯ
ทรัมป์กล่าวว่า การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ ลดลง “ไม่ใช่เรื่องใหญ่”
แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า แม้สงครามการค้าจะเน้นไปที่สินค้า เช่น รถยนต์ เหล็ก และผลผลิตการเกษตร แต่ภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่กว่าของเศรษฐกิจกำลังแบกรับต้นทุนแฝงที่ไม่มีใครพูดถึง
อ่านเพิ่มเติม

เดินทางวันไหนที่ตั๋วเครื่องบินจะถูกกว่า/แพงกว่า?
การท่องเที่ยวคือภาคบริการที่สร้างรายได้สูงที่สุดให้กับสหรัฐฯ โดยมีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นร้อยละ 10 ของอัตราการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งมากกว่างานในภาคการผลิตที่มีสัดส่วนเพียงราว 8% ของแรงงานในประเทศ
นอกจากนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังหล่อเลี้ยงธุรกิจรายย่อย เศรษฐกิจท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คนหลายล้านคนทั่วประเทศ
นอกจากจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนก็อาจไม่เหมือนเดิม
เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ตั้งแต่อาหารไปจนถึงของใช้ในโรงแรมและรถเช่า
ผนวกกับภาษีจากสงครามการค้าได้ดันต้นทุนสูงขึ้น ทำให้โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องผลักภาระต้นทุนสู่ผู้บริโภค
ปัญหาขาดแคลนแรงงานยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเกือบ 20% ของแรงงานในภาคบริการการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ เป็นผู้ที่เกิดในต่างประเทศ
การลดโควตาวีซ่าทำงานตามฤดูกาลและความหวาดกลัวการเนรเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายธุรกิจในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่เป็นหัวใจของภาคการท่องเที่ยว ต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
ผลกระทบจากการท่องเที่ยว...เงียบแต่รุนแรง
การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ยังเป็น "ซอฟท์พาวเวอร์" ที่สะท้อนภาพลักษณ์ของชาติผ่านวัฒนธรรม ค่านิยม และการต้อนรับผู้มาเยือน
นักท่องเที่ยวหนึ่งคนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับ หรือถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ไม่ได้หมายถึงแค่ยอดขายที่หายไป แต่มันคือสายสัมพันธ์ที่ถูกทำลาย
สถาบัน ทัวริซึม อีโคโนมิกส์ (Tourism Economics) คาดการณ์ว่า หากแนวโน้มปัจจุบันยังดำเนินต่อไป สหรัฐฯ อาจสูญเสียรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 15,600 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ภายในปี 2025
แม้งานในภาคการผลิตจะเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ แต่การถดถอยอย่างเงียบ ๆ ของ "การท่องเที่ยวอเมริกา" อาจฝากรอยแผลลึกและยาวนานยิ่งกว่าไว้ในวัฒนธรรม ชุมชน และบทบาทของสหรัฐฯ บนเวทีโลก
การปรับลดคาดการณ์รายได้ของ Flight Centre เป็นเพียงหนึ่งในหลายสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก
สำหรับธุรกิจ แรงงาน และชุมชนในสหรัฐฯ และในออสเตรเลียที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดการท่องเที่ยวอเมริกัน ความสูญเสียครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่ตัวเลข
มาดาลีน สเคอร์รี และอนิตา แมนเฟรด้า อาจารย์อาวุโสด้านการท่องเที่ยวและการบริการจากมหาวิทยาลัยทอเรนส์ ออสเตรเลีย เห็นพ้องว่า แนวโน้มเหล่านี้ควรได้รับความสนใจในฐานะผลกระทบเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจมองข้าม