การขอสัญชาติของเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย โดยผู้ปกครองที่ถือวีซ่าชั่วคราว

Family together

บิดามารดาที่ถือวีซ่าชั่วคราวสามารถทำเรื่องขอสัญชาติให้ลูกที่เกิดในออสเตรเลียได้ Source: Getty Images

คุณจอห์น เผ่าเพ็ง กูรูมืออาชีพด้านการอพยพย้ายถิ่น ตอบคำถามว่าเด็กที่เกิดกับพ่อและแม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราวจะสามารถขอสัญชาติออสเตรเลียเมื่ออายุครบ 10 ปีได้หรือไม่? และเด็กจะสปอนเซอร์พ่อกับแม่ให้เป็นพีอาร์ได้หรือไม่?


LISTEN TO
a child born in Australia from temp visa parents can be citizen when turn 10 image

การขอสัญชาติของเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย โดยผู้ปกครองที่ถือวีซ่าชั่วคราว

SBS Thai

27/09/202117:06


เอสบีเอสไทยสอบถามกูรูด้านการอพยพย้ายถิ่น คุณจอห์น เผ่าเพ็ง ถึงหนทางการขอสถานะพลเมือง (Citizen) สำหรับเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย จากบิดามารดาที่ถือวีซ่าผู้พำนักชั่วคราว (Temporary Visa) และหนทางสปอนเซอร์บิดามารดาหลังเด็กได้สัญชาติแล้ว

ถาม: เด็กที่เกิดและอาศัยอยู่ในออสเตรเลียจนถึง 10 ปี จะสามารถขอสัญชาติได้ จริงหรือไม่?

ตอบ: เด็กที่เกิดในประเทศออสเตรเลีย ไม่ว่าคุณพ่อหรือคุณแม่จะถือวีซ่าอะไร เด็กจะสามารถเป็นซิติเซ่นได้หลังจากที่อายุ 10 ขวบ กรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นพีอาร์หรือซิติเซ่น

เด็กที่เกิดในประเทศออสเตรเลีย มี 2 วิธีที่จะได้เป็นซิติเซ่นเลย

หนึ่ง กรณีที่เด็กเกิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นพีอาร์หรือซิติเซ่น ลูกที่เกิดที่นี่จะได้เป็นซิติเซ่นเลย วิธีนี้เรียกว่า Citizen by Birth (การเป็นพลเมืองโดยกำเนิด)

สอง กรณีที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้เป็นซิติเซ่น อาจจะถือวีซ่าทำงาน วีซ่านักเรียน หรือวีซ่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่พีอาร์ ลูกที่เกิดที่นี่ และใช้ชีวิตที่นี่เป็นเวลา 10 ปี ลูกก็จะได้ซิติเซ่นได้เหมือนกันครับ
ถาม: มีข้อห้ามหรือกฎระเบียบอย่างไรบ้าง? จริงหรือไม่ที่ห้ามออกนอกประเทศ?

ตอบ: สำหรับคนที่คิดว่าห้ามลูกออกนอกประเทศเนี่ย ในความเป็นจริงคือ ถ้าจะให้เราใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียโดยไม่ออกนอกประเทศเลยเป็นเวลา 10 ปี มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอิมมิเกรชั่นบอกว่า ‘ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ และใช้ชีวิตตามปกติ’ ตรงนี้ไม่มีคำนิยามว่าชีวิตตามปกติเป็นแบบไหน ปกติทั่วไปก็คือ เด็กออสซี่ที่นี่พอถึงอายุถึงเกณฑ์ก็ไปโรงเรียน ช่วงปิดเทอมก็อาจจะมีบ้างที่ไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่เมืองไทย เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าระยะเวลาที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อย่างน้อยควรที่จะเป็น 90 เปอร์เซ็นต์จะต้องอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นคือสามารถไปเยี่ยมได้

หลายคนที่สงสัยว่า สรุปแล้วอายุถึง 10 ปีหรือ 18 ปี ตามกฎหมายแล้วเนี่ยคือ 10 ปีนะครับ ไม่ใช่ 18 ปี

หรือบางคนที่สงสัยว่า เด็กจะเซ็นเอกสารได้ยังไง ก็คือคุณพ่อคุณแม่สามารถเซ็นเอกสารแทนเด็กได้ครับ ตรงจุดนี้ไม่มีปัญหา

ถาม: กว่าเด็กจะอายุถึง 10 ขวบ คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่อยู่วีซ่านักเรียน ซึ่งการต่อวีซ่านักเรียนแต่ละครั้งค่อนข้างยาก มีคำแนะนำยังไงบ้างครับ?

ตอบ: สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ถือวีซ่านักเรียนนะครับ หนึ่ง เวลาเลือกสาขาที่ลงเรียน อย่าให้เป็นสาขาที่เขาปฏิเสธ (refuse) กันเยอะ เช่น สาขาการจัดการ (Management) การตลาด (Marketing) ธุรกิจ (Business) ควรจะเลือกเรียนสาขาที่อยู่ใน Long term list (สาขาระยะยาว) เช่น การเรียนในมหาวิทยาลัย หรือไอที (IT) หรือบัญชี (Accounting) ในระดับวิทยาลัย

กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มาด้วยกันเป็นแพ็คคู่ สามารถสลับกันเรียนได้ คุณแม่อาจจะเรียนแล้ว 4 ปี ครั้งหน้าก็ให้คุณพ่อเรียน 4 ปี สี่บวกสี่เป็น 8 ได้ 8 ปี เวลาเลือกเรียนก็อย่าเลือกเรียนสาขาที่อยู่ใน Short term list (สาขาระยะสั้น) เรียนสาขาที่อยู่ใน Long term list เพื่อที่เราจะได้ขอวีซ่าซับคลาส (Subclass) 485 ได้ คือ Graduate Visa (วีซ่าทำงานหลังจบการศึกษา) ได้มาฟรีๆ 1 ปีครึ่ง หรือถ้าเรียนต่อปริญญาตรีหรือปริญญาโทร ก็จะได้วีซ่า 2 ปีครึ่ง สี่บวกสี่เป็นแปด บวกอีกสองเป็นสิบ

อีกวิธีหนึ่งเป็นพวกวีซ่าทำงาน (Working visa) ซับคลาส 482 หรือ 407 วีซ่าฝึกงาน ก็ได้หมด แต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วคือแล้วแต่ว่าคุณพ่อกับคุณแม่จะมีวิธีและหนทางอย่างไรที่จะยื้อเวลาให้ถึง 10 ปีให้ได้ ถามว่าทำได้ไหม มันมีวิธี และมันทำได้ครับ

ถาม: เมื่อเด็กอายุครบ 10 ปีแล้ว ยื่นขอสัญชาติออสเตรเลียเป็นซิติเซ่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือสปอนเซอร์จากลูกด้วยไหมครับ?

ตอบ: ได้ครับ ก็คือ หนึ่งลูกอายุไม่ถึง 18 แต่สามารถสปอนเซอร์คุณพ่อคุณแม่ได้เพราะเป็นซิติเซ่นแล้ว มีวีซ่าที่เรียกว่า Parent Visa (วีซ่าผู้ปกครอง) เพื่อให้ลูกสปอนเซอร์คุณพ่อคุณแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อายุเกิน 65 ปีแล้วสามารถยื่นได้ในประเทศออสเตรเลีย จะได้บริดจิ้งวีซ่า A มีแบบจ่ายเงินและไม่จ่ายเงิน
แบบไม่จ่ายเงิน เราก็ไม่แนะนำ เพราะว่าต้องรอ 25 ปี

แบบจ่ายเงินคือ ตอนที่ยื่นไปครั้งแรกจ่ายแค่ค่าสมัครก่อน ค่าสมัคร $3,855 ดอลล่าร์ต่อคน คุณพ่อก็ราคานี้ คุณแม่ก็ราคานี้ พอถึงเวลาที่จะดำเนินการเพื่ออนุมัตพีอาร์ให้กับคุณพ่อคุณแม่เนี่ย เราค่อยจ่ายเพิ่ม เรียกว่า Second Instalment (จ่ายค่างวดที่สอง) อยู่ที่ $43,600 ดอลล่าร์ต่อคน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังอายุไม่ถึง 65 ปีก็ทำได้เหมือนกันครับ มีซับคลาส 483 ยื่นได้ ราคาเท่ากัน เพียงแต่ว่าคุณจะไม่ได้บริดจิ้งวีซ่า เพราะจะถือว่าเป็นการยื่นนอกประเทศ (Offshore) มันจะแตกต่างจากวีซ่าตัวอื่นคือ ไม่ต้องบินออกไปเพื่อยื่นแบบนอกประเทศ คุณอยู่ในประเทศออสเตรเลียแล้วยื่นไปที่เพิร์ธ (Perth) ซึ่งเป็นศูนย์อยู่ที่นั่น ระยะเวลาในการรอ (waiting period) อยู่ที่ประมาณ 4-5 ปี ระหว่างนั้นก็ต้องมาคิดว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ด้วยวีซ่าอะไรเพื่อที่จะอยู่ต่อ เพื่อรอพีอาร์ บางคนอาจจะรอแค่ 4 ปีในประเทศออสเตรเลีย แล้วปีสุดท้ายหรือครึ่งปีสุดท้ายก็ไปรอที่ประเทศไทย แบบนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ได้พีอาร์เช่นเดียวกันครับ

ถาม: ฝากถึงคนไทยหน่อยครับ

ตอบ: อย่างแรกเลยนะครับ ในเรื่องของกฎหมายการอพยพย้ายถิ่น (Immigration) ของออสเตรเลีย เราอยากจะให้ทุกคนศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่ให้ความรู้จริงๆ เวลาเราไปอ่านอะไรตามโซเชียลหรือตามเว็บบอร์ด ก็ให้ดูความน่าเชื่อถือของคนที่โพสด้วย
A child and a pathway to Australia Citizenship
การขอสัญชาติให้ลูกที่เกิดกับพ่อและแม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราว Source: Si Luan Pham/Pexels
อันที่สอง เราพูดกันเรื่องลูก ว่าลูกอยู่ที่นี่ 10 ปีแล้วได้ซิติเซ่นเลย สำหรับคนที่มีลูกอยู่ที่นี่แล้ว เราดีใจด้วย สำหรับอนาคตของลูกของคุณ แต่ว่าสำหรับคนอื่น
ถ้าคุณจะสร้างชีวิตขึ้นมาอีกชีวิตหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ของคุณ เราอยากจะให้คิดให้ดีๆ คิดให้ยาว ๆ ว่า การที่เราต้องมาดูแลชีวิตอีกตั้งชีวิตนึงเนี่ย ภาระมันเยอะ ถ้าเค้าไม่ได้เกิดมากจากความรักที่แท้จริง มันก็ไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์ ถ้าเค้าเกิดขึ้นมา แล้วเราหวังประโยชน์อะไรทางวีซ่าจากเขา อยากให้คิดถึงจุดนี้ด้วยครับ
แล้วก็การเลี้ยงลูกอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะทุกคนต้องดูแลและเลี้ยงลูกเอง ไม่ได้มีคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย มาช่วยเลี้ยงเหมือนที่เมืองไทย อยากให้คิดถึงตรงจุดนี้ด้วย สุดท้ายสำหรับคนที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ถ้าคุณคลอดลูกที่นี่แล้ว ถ้าไม่อยากเสียโอกาสนะครับ ต้องเก็บลูกไว้ที่นี่ แล้วก็ต้องเลี้ยงเอง อย่าส่งไปให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงที่เมืองไทย ฝากไว้แค่นี้ครับ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share