ข่าวสารในออสเตรเลียได้กลับมาแสดงผลตามปกติบนเฟซบุ๊กแล้ว โดยบรรดาเพจต่าง ๆ ขององค์กรสื่อทุกแขนงทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงเอสบีเอส ได้กลับมาแสดงเนื้อหาได้ตามปกติอีกครั้ง เมื่อช่วงเช้าของ วันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาผ่านมา 1 สัปดาห์ที่ ‘เฟซบุ๊ก’ เครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่ ได้ปิดกั้นองค์กรสื่อต่าง ๆ ในออสเตรเลียอย่างฉับพลัน จากการโพสต์ และการแชร์ข่าวสารต่าง ๆ
การจำกัดห้ามดังกล่าว เกิดขึ้นจากการยื่นเสนอร่างกฎหมายการต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining Code) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก และได้สร้างความเคลื่อนไหวทั้งภายในและต่างประเทศ จนกลายเป็นการสนทนาในระดับโลก ถึงกรณีที่ว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ ควรที่จะจ่ายค่าชดเชยเพื่อแลกกับเนื้อหาข่าวจากองค์กรสื่อหรือไม่
Facebook and Australian Newspapers Source: AAP Image/Lukas Coch
เกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ชาวออสเตรเลียได้ตื่นขึ้นมาพบกับเพจเฟซบุ๊กองค์กรข่าวที่ว่างเปล่า นอกจากนี้ บริการสำคัญด้านสุขภาพ ข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยา รวมถึงบริการให้ความช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัว ยังได้ถูกปิดกั้นอีกด้วย
การกระทำของเฟซบุ๊กนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง นางโซฟี แมกนีล (Sophie McNeill) จาก ฮิวแมน ไรส์ วอตช์ ออสเตรเลีย (Human Rights Watch Australia)
"การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นทั้งประเทศในเวลากลางดึกแบบนั้น มันเป็นเรื่องที่เลยเถิดและรุนแรง ชาวออสเตรเลียต้องพึ่งพาการรับข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มนี้ และเราก็กำลังอยู่ท่ามกลางฤดูกาลไฟป่า และเราก็กำลังอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดใหญ่เช่นกัน” นางแมกนีล กล่าว
การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของเฟซบุ๊กนั้น เป็นการตอบโต้ร่างประมวลกฎหมายของรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่บังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าว ซึ่งได้รับการลงมติเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในคืนก่อนที่เฟซบุ๊กจะทำการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
นายปีเตอร์ เลวิส (Peter Lewis) ผู้อำนวยการ สถาบันศูนย์ความรับผิดชอบทางเทคโนโลยีแห่งออสเตรเลีย (The Australia Institute's Centre for Responsible Technology) ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของเฟซบุ๊กอย่างรุนแรงเช่นกัน
“มันเป็นการกระทำที่เย่อหยิ่ง และมันเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กได้กระทำอย่างไม่ยั้งคิด ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมุ่งโจมตีสังคมออสเตรเลีย เราได้รับรายงานว่า บริการช่วยเหลือด้วยความรุนแรงในบ้าน ข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านสาธารณสุข และข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยา ได้ถูกปิดกั้นโดยเฟซบุ๊กด้วย” นายเลวิส กล่าว
จากนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย ได้ประกาศว่า รัฐบาลได้ทำข้อตกลงในการปรับแก้ร่างประมวลกฎหมายดังกล่าว หลังได้มีการปรึกษาหารือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
โดยในวันนั้น ร่างประมวลกฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ได้รับการลงมติเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาเป็นขั้นสุดท้าย และในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื้อหาข่าวสารจากทุกช่องทุกฉบับ ก็กลับมาปรากฎสู่สายตาชาวออสเตรเลียบนนิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กอีกครั้ง
การแบนข่าวสารชนิดฉับพลัน ซึ่งเฟซบุ๊กได้ออกมาปกป้องการกระทำของตนเองนั้น ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นการออกตัวอย่างรุนแรงไปก่อน” ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั่วโลก เช่นเดียวกับความเห็นของ นายเซอร์เกย์ ลาวรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย
“ในบรรดาความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นนั้น คือเรื่องนโยบายที่ไม่โปร่งใสของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผู้ปิดกั้นเนื้อหาของผู้ใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการบิดเบือนความเห็นจากสาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง” นายลาวรอฟ กล่าว
จากการกระทำของเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย ทำให้ชาติต่าง ๆ อย่างอังกฤษ และแคนาดา ต่างจับตามองเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด และแสดงท่าทีว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
澳洲政府希望科技巨擘能與澳洲媒體分享廣告收益。 Source: Image by Gerd Altmann from Pixabay
Media Bargaining Code คืออะไร
นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ประมวลกฎหมายดังกล่าวนั้น จะเป็นการประกันอนาคตของสื่อมวลชนแบบให้เปล่า (free media) ผ่านการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล
แล้วประมวลกฎหมายนี้ทำงานอย่างไร
กฎหมายใหม่นี้ จะทำให้ออสเตรเลียเป็นชาติแรกของโลก ที่อนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างสื่อและบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล จะสามารถตั้งราคาที่เฟซบุ๊ก (Facebook) และกูเกิล (Google) จะต้องจ่ายให้กับสื่อในประเทศ ในการแสดงเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม หากการหารือเพื่อทำข้อตกลงระหว่างคู่กรณีนั้นไม่สามารถตกลงกันได้
รัฐบาล กล่าวว่า สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจสื่อได้รับการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม และธำรงไว้ซึ่งวารสารศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะของออสเตรเลีย
เพราะเหตุใดการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินจึงมีความสำคัญ
ข้อมูลจากบริการเฝ้าระวังการแข่งขันทางการค้า พบว่า เงินทุก ๆ $100 ดอลลาร์ที่บริษัทโฆษณาในออสเตรเลียต้องจ่ายไปในวันนี้ พบว่า $49 ดอลลาร์นั้นไปที่กูเกิล (Google) และ $24 ดอลลาร์นั้นไปที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจสื่อนั้นร่อยหรอ
ทั้งเฟซบุ๊ก และกูเกิล ได้โต้แย้งว่า พวกเขาไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องจ่ายเงินให้กับธุรกิจสื่อสำหรับการแสดงเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์มของตนเอง
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นว่า ประมวลกฎหมายใหม่นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งรวมถึง นายเอริก โกลด์แมน (Eric Goldman) รองผู้อำนวยการจากสถาบันด้านกฎหมายไฮเทค จากมหาวิทยาลัยซานตา คลารา (Santa Clara University)
“มันมีเรื่องของประชานิยมอยู่ระดับหนึ่ง ทั้งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของออสเตรเลียด้วยแนวคิดที่ว่า กูเกิลและเฟซบุ๊กมีรายได้ล้นเหลือ ความยากลำบากของนักข่าว และการข่าวของออสเตรเลียที่กำลังย่ำแย่ และผลลัพธ์ก็คือ การตั้งด่านเพื่อหาข้อตกลงระหว่างธุรกิจสื่อและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่นั้น จะสร้างเม็ดเงินเพื่อให้การข่าวนั้นมีคุณภาพ”
“แต่โชคไม่ดีที่ว่า แนวทางการบัญญัติกฎหมายของออสเตรเลียนั้น จะไม่นำไปสู่ข้อได้เปรียบใด ๆ เพราะเงินเหล่านั้นจะไปไม่ถึงคนทำข่าว หรือโครงสร้างวารสารศาสตร์เอง และมันได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า หากเราให้คุณค่าวารสารศาสตร์ในฐานะสังคม การพึ่งพากลไกตลาดอาจไม่ทำให้เราได้ทุกสิ่งที่เราคาดหวัง” นายโกลด์แมน กล่าว
Facebook has hidden posts promoting diet products and cosmetic procedures to users under the age of 18 Source: Getty Images Europe
แล้วเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก และกูเกิล ได้ทำข้อตกลงกับองค์กรสื่อในออสเตรเลียบางส่วน และสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับองค์กรสื่ออื่น ๆ ต่อไป
ในขณะที่มีความกังวลว่า องค์กรสื่อขนาดเล็ก รวมถึงองค์กรสื่อในพื้นที่ส่วนภูมิภาคจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการทำข้อตกลงกับเฟซบุ๊ก และกูเกิล นายรอด ซิมส์ (Rod Simms) ประธาน คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันทางการค้า และผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ได้แสดงความมั่นใจว่า สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมกูเกิล และเฟซบุ๊ก จะปล่อยองค์กรสื่อเหล่านั้นไป ผมเข้าใจได้ว่าพวกเขาอาจมีผู้คนในจำนวนจำกัดในตอนนี้ ดังนั้นมันจึงอาจใช้เวลาสักหน่อย” นายซิมส์ กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด
นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
แคมเปญใหม่ป้องกันนศ.ต่างชาติถูกโกงค่าจ้าง