ถึงเป็นคนไทยแต่ก็สอนภาษาญี่ปุ่นได้ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย

ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์

ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ อาจารย์สอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมกควารี (Macquarie University) ในซิดนีย์ Source: Chavalin Svetanant/Unsplash

ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ เผยว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยแมกควารี จึงมั่นใจให้เธอทำงานสอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สถาบันมา 13 ปีแล้ว แม้เธอจะไม่ใช่เจ้าของภาษา ยากแค่ไหนกว่าจะได้งานนี้ อาจารย์ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับอาจารย์เจ้าของภาษา และการทำงานในมหาวิทยาลัยที่นี่ที่ไม่มี “ผู้ใหญ่” คอยประคอง จะต้องปรับตัวอย่างไร ดร.ชวาลิน ให้ข้อมูลเจาะลึกในประเด็นเหล่านี้


ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ให้โอกาสผู้คน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเชื้อชาติใด มาจากไหน ถ้าหากคุณมีความสามารถอย่างแท้จริง ประเทศนี้ก็ยินดีให้โอกาสคุณได้แสดงฝีมือให้ประจักษ์ ซึ่งผู้หญิงไทยคนหนึ่งในซิดนีย์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมีใจที่เปิดกว้างของผู้คนในออสเตรเลีย

กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
Chavalin Svetanant Thai teaching Japanese image

ถึงเป็นคนไทยแต่ก็สอนภาษาญี่ปุ่นได้ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย

SBS Thai

18/02/202222:08
ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ เป็นอาจารย์สอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมกควารี (Macquarie University) ในนครซิดนีย์ มานาน 13 ปีแล้ว

เธอเล่าว่าในตอนแรกแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า สถาบันการศึกษาที่นี่จะยินดีให้โอกาสกับคนไทยมาสอนภาษาญี่ปุ่น ให้ผู้เรียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย

“ตอนนั้นคิดว่ามันเป็นไปได้ยากที่คนไทยจะมาสอนภาษาญี่ปุ่นในออสเตรเลีย เพราะกลายเป็นว่าเราสอนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา ด้วยภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเราอีกเหมือนกัน คือสอนภาษาที่สามด้วยภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษ แม้กระทั่งวันนี้ เรายังรู้สึกขอบคุณที่ประเทศนี้ให้โอกาส ให้พื้นที่ของความหลากหลายได้เบ่งบาน” อ.ชวาลิน เศวตนันทน์ กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย
กลายเป็นว่าเราสอนภาษาที่สามด้วยภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษ แต่ต้องขอบคุณที่ประเทศนี้ให้โอกาส ให้พื้นที่ของความหลากหลายได้เบ่งบาน
เธอตระหนักดีว่า ผู้คนไม่น้อยอาจมีอคติในใจ ยึดติดที่เชื้อชาติและภาษาแรกที่คนๆ นั้นพูด และไม่คำนึงถึงการศึกษา ประสบการณ์ และความสามารถของบุคคลนั้น แต่ก็มีผู้คนไม่น้อยในออสเตรเลียที่มีใจเปิดกว้าง
"ขอบคุณที่ประเทศนี้ให้โอกาส ให้พื้นที่ของความหลากหลายได้เบ่งบาน” อ.ชวาลิน เศวตนันทน์ กล่าว
"ขอบคุณที่ประเทศนี้ให้โอกาส ให้พื้นที่ของความหลากหลายได้เบ่งบาน” อ.ชวาลิน เศวตนันทน์ กล่าว Source: Chavalin Svetanant
“ถ้าสมมุติว่ามีคนศรีลังกามาสอนภาษาเกาหลี ที่ประเทศไทยก็คงงงๆ เหมือนกันว่า อ้าวทำไมคนศรีลังกามาสอนภาษาเกาหลี แต่ที่ออสเตรเลียมีความหลากหลายเยอะมาก เขาจึงเปิดพื้นที่ให้แก่คนหลายรูปแบบ” อ.ชวาลิน กล่าว

เธอยอมรับว่า ในตอนแรก แม้แต่ตัวเธอเอง ก็ยังไม่แน่ใจว่าสถาบันการศึกษาในออสเตรเลียจะก้าวข้ามอคติทำนองนี้ ที่อาจพบเห็นได้ในที่อื่น ๆ ในโลก

“ตอนสมัคร เรื่องความมั่นใจเนี่ย ไม่มีเลยค่ะ” อ.ชวาลิน กล่าวกลั้วหัวเราะเบาๆ “แต่ตอนสมัคร มันเป็นความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อันนี้มีเต็มร้อย ปกติเป็นคนชอบลอง ชอบทำอะไรใหม่ๆ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ตอนนั้นเมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็เลยเริ่มหางาน ที่นี้เราเคยทำงานสอนหรือเป็นอาจารย์มา เรามีดีกรีมาในด้านนี้ เราก็อยากจะทำต่อในสายงานที่เราเคยทำ ก็เลยลองสมัคร”
ตอนสมัคร เรื่องความมั่นใจเนี่ย ไม่มีเลยค่ะ แต่มันเป็นความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อันนี้มีเต็มร้อย
จากประวัติการศึกษาด้านภาษาญี่ปุ่นของ ดร.ชวาลิน ที่จบปริญญาตรีเอกภาษาญี่ปุ่น จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทและเอกด้านภาษาศาสตร์ของภาษาญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต บวกกับมีประสบการณ์สอนภาษาญี่ปุ่น ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แถมยังเคยทำงานเป็นนักวิจัยที่ญี่ปุ่นด้วย มหาวิทยาลัยแมกควารี จึงเรียกอาจารย์คนไทยผู้นี้ให้เข้าไปสัมภาษณ์งาน
อ.ชวาลิน เศวตนันทน์ ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
อ.ชวาลิน เศวตนันทน์ ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น Source: Chavalin Svetanant
แต่กว่าจะได้งาน นอกจากจากจะต้องมีความเหมาะสมในทุกๆ ด้านทั้งประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยยังมองหาผู้ที่มีบุคคลิกภาพที่ “ใช่” สำหรับงานในตำแหน่งนี้ด้วย

“ตอนสัมภาษณ์เขาจะเช็คภาษาญี่ปุ่นเราด้วยการเอา essay (เรียงความ) ภาษาญี่ปุ่นมาให้เราอ่าน แล้วให้เวลาอ่านแป๊บเดียวมากๆ แล้วก็ถามคำถามและให้สรุปจากเรื่อง ตัวเองเนี่ยเรียนจบจากญี่ปุ่น ก็เขียน thesis (วิทยานิพนธ์) เป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว ในเรื่องภาษาญี่ปุ่น โดยเฉพาะเขียนกับอ่าน จึงมีความมั่นใจพอสมควร แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้ แต่สุดท้ายเขาก็ประทับใจ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าเขาก็บอกว่า เราดูเป็นคนที่มีพลังบวก ดูมีความกระตือรือร้นในการสอน และภาษาญี่ปุ่นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา” อ.ชวาลิน บอกกับเอสบีเอส ไทย

ในการสอนภาษานั้น หลายคนอาจคิดว่า การเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษาย่อมดีกว่าการเรียนกับครูที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา แต่อาจารย์ชวาลินบอกว่า ความจริงแล้ว ครูที่เป็นผู้ที่เคยเป็นผู้เรียนมาก่อน มีจุดดีที่จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนเช่นกัน

“แน่นอนว่า ความด้อยคือเรื่องคำศัพท์หรือความเป็นธรรมชาติของการใช้ภาษา เราจะสู้เจ้าของภาษาไม่ได้ เพราะเขาใช้มาตั้งแต่เกิด เรื่องนี้เราก็ catch up เอา (หาความรู้เสริมเพื่อให้ตามเขาให้ทัน) ต้องอาศัยดูอะไรเยอะๆ อ่านเยอะๆ เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ในหัว”

“แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเราในการสอนภาษาก็คือ การอธิบายโครงสร้างของภาษาให้คนเข้าใจได้ ซึ่งในเรื่องนี้คนที่เป็นผู้เรียนมาก่อนย่อมได้เปรียบเจ้าของภาษาแน่นอน ด้วยความที่เราก็เป็นคนนอกที่เรียนภาษามาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลานักศึกษาไม่เข้าใจหรือมีผู้เรียนถาม เราก็จะ อ๋อ คำถามนี้เราเคยคิดมาก่อน เราจึงมีความเข้าใจผู้เรียนมากกว่า เราสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้เรียนได้มากกว่าเจ้าของภาษา” อาจารย์ชวาลิน อธิบาย
ด้วยความที่เราก็เป็นคนนอกที่เรียนภาษามาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลานักศึกษาไม่เข้าใจหรือมีผู้เรียนถาม เราก็จะ อ๋อ คำถามนี้เราเคยคิดมาก่อน เราจึงมีความเข้าใจผู้เรียนมากกว่า
“คนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา เวลาเราพูดภาษาญี่ปุ่น เราใช้สมองพูด เพราะสมองต้องทำงานตลอดเวลาว่า อันนี้ต้องมาบวกกับอันนี้และต้องใช้คำช่วยอันนี้ แต่คนที่เป็นเจ้าของภาษาเขาใช้ใจพูด คือเขาพูดด้วยความเคยชิน เพราะฉะนั้นเวลาอธิบาย คำอธิบายมันจะมีความลึกซึ้งต่างกัน” ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ อาจารย์สอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมกควารี เผย
ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ ทำงานสอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยแมกควารี (Macquarie University) ในนครซิดนีย์ มานาน 13 ปีแล้ว
ดร.ชวาลิน เศวตนันทน์ ทำงานสอนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยแมกควารี (Macquarie University) ในนครซิดนีย์ มานาน 13 ปีแล้ว Source: Chavalin Svetanant
ติดตามฟังบทสัมภาษณ์ ดร. ชวาลิน ทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นว่า

  • นักศึกษาที่เรียนภาษาญี่ปุ่นในออสเตรเลียมีความแตกต่างกับนักศึกษาที่เรียนภาษาญี่ปุ่นที่เมืองไทยอย่างไร จุดไหนที่สอนคนไทยง่ายกว่า/หรือยากกว่า ทัศนคติของผู้เรียนที่นี่เป็นอย่างไร
  • การทำงานอาจารย์มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียแตกต่างจากที่เมืองไทยอย่างไร ทั้งเรื่องหน้าที่ปฏิบัติโดยทั่วไปและบรรยากาศของการทำงานในแวดวงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นี่
  • ปิดท้ายด้วยคำแนะนำดีๆ สำหรับคนไทยที่อยากทำงานสอนในมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย
กดฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่
LISTEN TO
Chavalin Svetanant Thai teaching Japanese image

ถึงเป็นคนไทยแต่ก็สอนภาษาญี่ปุ่นได้ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย

SBS Thai

18/02/202222:08
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share

Recommended for you