ทีมนักวิจัยออสฯ พบยารักษา "โรคพุ่มพวง" ตัวใหม่ในรอบ 60 ปี

new lupas treatment

ยารักษาโรคลูปัสตัวใหม่นี้ชื่อว่า “อันเนอโฟรลัมแอบ” (Anifrolumab) อาจจะเป็นยารักษาโรคลูปัสที่ได้รับการรับรองตัวที่ 2 ในรอบ 60 ของออสเตรเลีย Source: Pixabay

NEWS: ข่าวดีส่งท้ายปีทีมนักวิจัยทางการแพทย์ของออสเตรเลีย ค้นพบตัวยารักษาโรคลูปัสหรือที่คนไทยรู้จักกันว่า"โรคพุ่มพวง" ได้แล้ว หากยาผ่านการรับรองจะทำให้คนไข้กว่า 20,000 คนได้ประโยชน์ผ่านโครงการสิทธิประโยชน์ด้านยา


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องนี้

ทีมนักวิจัยทางการแพทย์ของออสเตรเลียเปิดเผยว่าพวกเขาค้นพบตัวยาที่สามารถรักษาโรคลูปัส หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่าโรคพุ่มพวงได้แล้ว ในปัจจุบันมีคนออสเตรเลียมากกว่า 20,000 คนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองนี้  ถ้าตัวยานี้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administrationแล้ว) จะทำให้ยาตัวนี้เป็นยารักษาโรคลูปัสที่ได้รับการรับรองตัวที่ 2 ในรอบ 60 ปี  

โรคลูปัสในออสเตรเลีย

จากการรายงานพบว่ามีคนออสเตรเลียป่วยเป็นโรคนี้ราวๆ 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 15 จนถึง 45 ปี  ซึ่งโรคนี้จะพบได้บ่อยในหมู่ชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย ชาวเอเชีย และกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรป

ตัวอย่างเช่น  คุณ วู เหวียน ก็เป็นคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคลูปัสมามากว่า 25 ปี และเธอยังคงจำได้ถึงวันแรกที่เธอถูกวินิจฉันว่าเธอป่วยเป็นโรคนี้ได้ดี  เธอเล่าประสบการณ์ของเธอว่า

“ตอนนั้นฉันอายุแค่ 9 ขวบ วันหนึ่งฉันกลับบ้านพร้อมด้วยข้อเท้าที่บวมฉึ่ง ฉันเดินไม่ได้ วิ่งก็ไม่ได้ ข้อต่อของฉันเจ็บระบบไปหมด"คุณ วู เหวียน เปิดเผย

ปัจจุบันโรคแพ้ภูมิตัวเองนี้มีผลกระทบต่อไตของเธอมากที่สุดและเธอก็เคยเกิดภาวะอาการเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างเฉียบพลัน และมีอาการของลมบ้าหมู ซึ่งสันนิษฐานว่าอาการป่วยเหล่านี้อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคลูปัส
lupas treatment
โรคลูปัส เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ Source: Pixabay
การค้นพบตัวยาใหม่ในรอบ 60 ปี

ศาสตราจารย์ อิริค โมรานด์ จาก มหาวิทยาลัยโมนาช ชี้ว่า โรคลูปัสเป็นโรคที่ยากต่อการรักษา เพราะว่าปัจจุบันเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้และตัวยาที่ได้รับการรับรองในการรักษาเพียงตัวเดียวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ใช้กันมาตั้งแต่ 60ปี ที่แล้ว เขากล่าวว่า

“โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ปกติ มันเหมือนกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งเป็นโรคภาวะภูมิต้านตัวเองที่มีผลต่อสมอง โรคลูปัสก็เป็นโรคคล้ายๆ อย่างนั้นแต่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นการประเมินระดับของโรคในคนไข้แต่ละคน รวมถึงการประเมินว่าพวกเขาจะตอบสนองกับการรักษามากแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ”ศาสตราจารย์ อิริค โมรานด์ อธิบาย

ผลการวิจัยของการวิจัยทางการแพทย์ โดยมี ศาสตราจารย์ โมรานด์ เป็นหัวหน้านักวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “The New England Journal of Medicine” เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

ยารักษาโรคลูปัสตัวใหม่นี้ชื่อว่า “อันเนอโฟรลัมแอบ” (Anifrolumab) เป็นตัวยาที่หยุดยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับโรคลูปัส  มีการทดลองใช้ยาตัวนี้ในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทดลอง 362 คนเป็นเวลา 3 ปีด้วยกัน ซึ่งมีกลุ่มผู้ป่วยจะได้รับตัวยาในปริมาณ 300 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ให้ยาหลอกทางเส้นเลือดดำทุกๆ 4 อาทิตย์ เป็นเวลา 48 อาทิตย์ และได้รับรายงานผลจากผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยานี้ว่าพวกเขามีอัตราของการกำเริบของโรคนี้ลดลง  ศาสตราจารย์ อิริค  โมรานด์ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"เราคาดหวังว่า ถ้ายาตัวนี้ได้รับการรับรองแล้ว เราจะสามารถจำหน่ายแก่คนไข้ผ่านโครงการสิทธิประโยชน์ด้านยา ได้อย่างรวดเร็ว และเราทราบว่าอย่างน้อยร้อยละ 80 ของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคลูปัสมีสารบ่งชี้ในเลือดว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์จากการรักษาจากยาตัวนี้"ศาสตราจารย์ อิริค  โมรานด์ อธิบาย

ด้านคุณ เหวียน ผู้ป่วยโรคนี้ให้ความเห็นว่าถ้าหากตัวยานี้ได้รับการรับรองก็จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ เธอกล่าวว่า

"ถ้าตัวยานี้จะสามารถช่วยรักษาอาการที่เกิดจากโรคลูปัสได้ มันก็น่าจะสามารถช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคลูปัสได้ด้วย ดังนั้นไม่ว่าตัวยาชนิดใดก็เป็นสิ่งที่ดี"คุณ วู เหวียน ชี้

กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังรายละเอียดเรื่องนี้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 

 

 

 

 

 

 


Share