พบนศ.ต่างชาติไม่น้อยถูกเหยียดเชื้อชาติช่วงโควิด

The Coronavirus has had a negative impact on international students (AAP)

International students. Source: AAP

การสำรวจล่าสุดในหมู่นักเรียนต่างชาติ 6,000 คนในออสเตรเลีย พบว่านักเรียนเหล่านั้นจำนวนมากเคยถูกเหยียดเชื้อชาติ เนื่องมาจากเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ วิกฤตโควิดยังทำให้นักเรียนต่างชาติกลัวการตกงานและการไม่มีที่อยู่อาศัย


ทูลซิกา ราโวอาห์ เริ่มเรียนในนครเมลเบิร์นในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

ขณะนั้น นักเรียนต่างชาติวัย 21 ปีผู้นี้ กำลังเริ่มเรียนด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย เธอหวาดหวั่น แต่ตื่นเต้นที่จะได้รับประสบการณ์ที่นี่

“การที่มาจากเกาะเล็กๆ ในมอริเชียส แล้วมายังประเทศอย่างออสเตรเลีย ฉันรู้สึกกลัวมากว่า วัฒนธรรมที่นี่จะเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่ฉันได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้คน” ทูลซิกา เผย

แต่เธอกล่าวว่า นั่นได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

“ครั้งหนึ่ง ขณะที่ฉันกำลังไปซื้อของชำ มีใครไม่รู้มาคุยกับฉัน และเขาพูดว่า ‘เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่ กลับประเทศของเธอซะ’ ทำนองนั้น” ทูลซิกา เล่า

เรื่องราวในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับเธอแค่คนเดียว

เรย์ เจนคินส์ มาจากนครนิวยอร์ก และได้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียมา 5 ปีแล้ว

เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe) และขณะนี้กำลังเรียนปริญญาโทด้านการพัฒนาระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash)

นักเรียนวัย 23 ปีผู้นี้ รู้สึกผิดหวังกับเหตุการณ์ที่เขาถูกเหยียดผิวเมื่อเร็วๆ นี้

“เมื่อวานนี้เอง ที่ผมไปซื้อของที่โคลส์ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และผมถูก รปภ.เดินตามทุกชั้นวางสินค้าที่ผมไปเลยทีเดียว ผมสังเกตเห็นเขา เพราะผมชินกับเรื่องนี้ที่ประเทศบ้านเกิด แต่การได้เห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่นี่นั้นน่าตกใจมาก ... มันน่าตกใจ เพราะเราได้พบเจอผู้คนและเราคิดว่าเรารู้วัฒนธรรมของเขาดี เราคิดว่าพวกเขาเป็นคนที่เปิดใจยอมรับและใจกว้าง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเป็นร้าย เราก็หวังให้พวกเขามีลักษณะนิสัยเหมือนเดิม แต่พวกเขากลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” เรย์ กล่าว
จากการสำรวจล่าสุดของ ไมแกรนต์ เวิร์กเกอร์ จัสติส (Migrant Worker Justice) องค์กรด้านความยุติธรรมของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเก็บข้อมูลในหมู่นักเรียนต่างชาติกว่า 6,000 คนพบว่า นักเรียนเหล่านั้นเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 23) เคยถูกเหยียดเชื้อชาติด้วยวาจาระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา และร้อยละ 25 กล่าวว่า ผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้พวกเขา เพราะลักษณะทางร่างกายของพวกเขา

รองศาสตราจารย์ ลอรี เบิร์ก เป็นผู้ร่วมเขียนรายงานผลการสำรวจนี้ กล่าวว่า

“มีความเป็นไปได้ว่า การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสนี้ได้เติมเชื้อไฟให้แก่การเหยียดเชื้อชาติที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ภายในชุมชน และผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวเหล่านั้นต้องแบกรับความรุนแรงของเรื่องนี้โดยตรง ... นักเรียนราว 1,500 คนบอกว่าพวกเขาถูกพูดจาถากถางด้วยคำพูดล้อเลียนที่เหยียดหยามจากความเกลียดกลัวคนต่างชาติ หรือบ้างก็บอกว่า พวกเขาถูกปฏิบัติด้วยราวกับพวกเขามีเชื้อโควิดเนื่องจากรูปลักษณ์ของพวกเขาที่เป็นชาวเอเชีย และบางคนยังกล่าวว่าถูกทำร้ายร่างกายเพราะการเหยียดเชื้อชาติด้วย” รศ.เบิร์ก เปิดเผย

การศึกษาวิจัยดังกล่าวที่ดำเนินการในเดือนกรกฎาคมยังเผยถึงความเดือดร้อนทางการเงินของนักเรียนต่างชาติ

นักเรียนที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 70 ถูกเลิกจ้าง และร้อยละ 32 ไม่สามารถพึ่งพาครอบครัวให้ส่งเงินมาให้ได้

เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักได้ ขณะที่ร้อยละ 42 เกรงว่าตนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน และยิ่งไปกว่านั้น กว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 28) ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) ของนักเรียนต่างชาติที่ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า พวกเขาถูกบีบให้ต้องหันไปพึ่งพาความช่วยเหลือฉุกเฉินและองค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อจะมีชีวิตรอด

แต่สถานการณ์มีแนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากนักเรียนเหล่านั้นกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57) คาดว่าสถานการณ์ด้านการเงินของตนจะเลวร้ายลงในปีนี้ โดย 1 ใน 3 (ร้อยละ 35) กล่าวว่า เงินที่พวกเขามีอยู่จะหมดลงภายในเดือนหน้า

นอกเหนือจากการถูกเหยียดเชื้อชาติแล้ว ทูลซิกายังถูกเลิกจ้าง และไม่สามารถพึ่งพาครอบครัวให้ส่งเงินมาช่วยได้ เพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวด้วยเช่นกัน

“นอกจากนี้ ยังมีความคิดทั่วไปในสังคมที่ว่านักเรียนต่างชาตินั้นรวยมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ไม่ใช่ทุกคนจะเหมือนกัน การถูกเลิกจ้างส่งผลกระทบต่อการเงินของฉันอย่างมาก ดังนั้น จึงลำบากมากในการรับมือกับเรื่องการเงินไปพร้อมกัน” ทูลซิกา อธิบาย
จากสถิติในเดือนมิถุนายน นักเรียนต่างชาติกว่า 637,000 คนยังคงอยู่ในออสเตรเลีย โดยลดลงจากเดิมที่มีจำนวนกว่า 758,000 คนในเดือนธันวาคม 2019

นักเรียนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ในตลาดแรงงาน แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมจากรัฐบาลสหพันธรัฐ

รศ.ลอรี เบิร์ก กล่าวว่า จุดนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลง

“ฉันคิดว่าผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ของรัฐบาลจะยาวนานต่อไปยิ่งกว่าการระบาด นี่เป็นช่วงเวลาสุดท้ายแล้วที่จะทำได้ ที่รัฐบาลต้องขยายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวด้วย ...การสำรวจได้เผยให้เห็นการแบ่งแยกทางสังคมที่หยั่งลึกอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติของรัฐบาลในสถานการณ์นี้ ผู้ตอบแบบสำรวจหลายพันคนแสดงความรู้สึกโกรธและปวดร้าวใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะมีหลายร้อยคนที่อ้างถึงสารจากนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าพวกเขาควรกลับบ้านไปเสีย” รศ.เบิร์ก ระบุ

ด้านทูลซิกา ขอร้องกับชุมชนว่า

“ขอให้ช่วยกันทำให้ออสเตรเลียต้อนรับผู้คนอย่างเมื่อก่อน” นักเรียนต่างชาติผู้นี้ กล่าวทิ้งท้าย


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share