ตอนนี้ พ่อแม่ที่ด่าทอหรือข่มขู่ครูในรัฐวิกตอเรีย จะถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยังพื้นที่ของโรงเรียนต่างๆ
ร่างกฎหมายนี้กำลังถูกอภิปรายกันในรัฐสภาของรัฐ ขณะที่ครูจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน
ฟังรายงาน
LISTEN TO
VIC เสนอกฎเข้มห้ามพ่อแม่ก้าวร้าวเหยียบโรงเรียน
SBS Thai
07/05/202106:42
หลังจากได้ลงโทษทางวินัยนักเรียนคนหนึ่งที่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ตะวันตกของเมลเบิร์น ครูผู้นี้ ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ถูกผู้ปกครองของนักเรียนตะโกนใส่หน้าว่า “ฉันจะกลับมารอแกอยู่ข้างหน้ากับเพื่อนของฉันอีก 30 คน”
“มันไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีเลย ไม่ควรมีใครสมควรถูกข่มขู่ในที่ทำงานหรือต้องรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ฉันคิดว่า ตราบใดที่เราแจ้งกับผู้บริหารไปแล้ว ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้น และพวกเขาปกป้องเรา พวกเขาออกมาตรการที่จะกันเราจากครอบครัวนั้น มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาก” ครูผู้นี้กล่าว
เธอกล่าวต่อไปว่า มีผู้ปกครองส่วนน้อยที่เลยเถิดไปถึงการข่มขู่หรืออาฆาตมาดร้าย แต่ครูและเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของโรงเรียน เคยมีประสบการณ์ถูกด่าทอหรือถูกขู่ขวัญให้เกรงกลัวมาแล้ว
“หากใครพยายามขู่ขวัญคุณด้วยการใช้เสียงดัง ใช้ท่าทางของมือ ทุบโต๊ะ พวกเขากำลังมีท่าทางก้าวร้าวขณะที่พวกเขาพูด หรือมีประเภทที่ข่มขู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณด้วย” ครูของโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ตะวันตกของเมลเบิร์น กล่าว
นายเจมส์ เมอร์ลิโน รัฐมนตรีด้านการศึกษาของรัฐวิกตอเรีย กำลังเสนอร่างกฎหมาย ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อยับยั้งไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น
“นี่จะให้โรงเรียนมีความสามารถที่จะสั่งห้ามพ่อแม่หรือผู้ปกครองเข้ามาในพื้นที่ได้สูงสุด 14 วัน มีกระบวนการด้านความยุติธรรมระบุไว้ในกฎหมายอยู่แล้ว แต่นี่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเสนอเป็นกฎหมาย” นายเมอร์ลิโน กล่าว
นี่เป็นข้อแนะนำหลักข้อหนึ่งจากคณะทำงานเฉพาะกิจของรัฐมนตรีด้านการปกป้องโรงเรียนประจำปี 2018 (2018 Protective Schools Ministerial Taskforce)
Students in class at school in Melbourne. Source: AAP
ภายใต้แผนดังกล่าว พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ที่แสดงความก้าวร้าว ทั้งทางร่างกาย คำพูด หรือทางออนไลน์ ต่อเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนสามารถถูกออกคำสั่งคุ้มครองความปลอดภัยชุมชน หรือที่เรียกว่า community safety order ได้
คุณเจมส์ เมอร์ลิโน กล่าวว่า มันเกี่ยวกับพยายามทำให้แน่ใจได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
“นี่เกี่ยวกับการที่มันไปถึงระดับที่มันล้ำเส้น เป็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง พฤติกรรมการดูถูกเหยียดหยาม พฤติกรรมการขู่อาฆาต ทั้งในพื้นที่โรงเรียนและในโซเชียลมีเดีย” นายเมอร์ลิโน กล่าว
มีการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศออสเตรเลีย
การสำรวจด้านสุขภาพและสวัสดิภาพของครูใหญ่ในออสเตรเลียชี้ว่า ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีการศึกษาสุดท้ายที่เป็นปกติก่อนสถานการณ์โควิด ผู้นำของโรงเรียนกว่าร้อยละ 50 เคยถูกขู่อาฆาตว่าพวกเขาจะถูกทำร้าย โดยเกือบร้อยละ 35 รายงานว่าการข่มขู่เหล่านั้นมาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง
ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 40 เคยถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย ขณะที่เกือบร้อยละ 10 กล่าวว่า พวกเขาเคยถูกกระทำรุนแรงจากพ่อแม่ผู้ปกครอง
นายมาร์ก เมอร์ฟี ประธานสมาคมโรงเรียนมัธยมศึกษาคาทอลิก (Catholic Secondary Schools Association) กล่าวว่า ลูกจ้างทั้งหมดของโรงเรียน ครู และพนักงานต้อนรับของโรงเรียน ควรได้รับการปกป้องจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
“พวกเขาเริ่มจากรู้สึกสะเทือนอารมณ์ แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นการโกรธเคืองได้จากรวดเร็ว และบ่อยครั้งเปลี่ยนไปเป็นความก้าวร้าว เราจำเป็นต้องสนับสนุนคนเหล่านี้และพยายามทำให้แน่ใจได้ว่า พวกเขารู้สึกว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยที่พวกเขาจะมาทำงานได้ในแต่ละวัน” นายเมอร์ฟี กล่าว
ขณะที่จำนวนครูใหญ่ที่ถูกข่มเหงลดลงในปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงการเรียนทางไกล แต่สถิติยังคงมีนัยสำคัญ
ผู้นำของโรงเรียนต่างๆ มีโอกาสที่จะถูกขู่อาฆาตมากกว่าประชากรทั่วไป 5 เท่า และมีโอกาสมากกว่าเกือบ 10 เท่าที่จะถูกทำร้ายร่างกาย
นายแอนดรูว์ ดัลกลิช ประธานสมาคมครูใหญ่แห่งรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า การถูกข่มเหงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในระยะยาว
“ความชอกช้ำทางจิตใจอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญได้และเกิดขึ้นจริง มันทำลายความมั่นใจและความสามารถของครูและผู้นำโรงเรียน ที่จะทำงานในลักษณะที่พวกเขาควรสามารถทำได้ในโรงเรียนของพวกเขาเอง” นาย ดัลกลิช ประธานสมาคมครูใหญ่แห่งรัฐวิกตอเรีย กล่าว
พ่อแม่ผู้ปกครองที่ถูกห้ามเข้าพื้นที่โรงเรียนอาจถูกปรับ 10,000 ดอลลาร์หากละเมิดคำสั่งคุ้มครองความปลอดภัยชุมชน
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าบริการดูแลเด็กของครอบครัวจะลดลงภายใต้แผนใหม่ของรัฐบาล
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
กู้ยืมเงินอย่างไรให้มีความรับผิดชอบ