Settlement Guide: การเปลี่ยนแปลงด้านวีซ่าออสเตรเลียปีนี้

Changes to Australian visas in 2018

Source: SBS

มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับวีซ่าออสเตรเลียในปี 2018 นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ต้องการขอวีซ่าทำงาน วีซ่าคู่ครอง วีซ่าสำหรับพ่อแม่ และผู้ที่ต้องการขอเป็นพลเมือง


วีซ่าแรงงานทักษะ

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ด้านวีซ่า คือการแทนที่วีซ่า 457 ด้วยวีซ่า Temporary Skill Shortage หรือวีซ่าสำหรับการขาดแคลนแรงงานทักษะชั่วคราว หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วีซ่า TSS ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป

นายไมเคิล วอล์กเกอร์ ผู้จัดการด้านบริการวีซ่า บริษัท TSS Immigration ในเมลเบิร์น กล่าวว่า วีซ่า TSS ใหม่นี้ จะแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ ประเภทระยะสั้น และระยะกลาง

“สปอนเซอร์ที่เสนอจ้างงานในอาชีพที่ระบุในรายการระยะสั้นจะสามารถจัดหาวีซ่าให้ผู้สมัครอยู่ในออสเตรเลียได้เพียง 2 ปีเท่านั้น และมีทางเลือกเดียวในการต่อวีซ่าออกไปได้อีกเพียง 2 ปี แต่สำหรับอาชีพในรายการระยะกลางและระยะยาว ผู้สมัครขอวีซ่าเหล่านั้นจะได้รับวีซ่า 4 ปี และผู้ถือวีซ่าจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้ ภายใต้การสปอนเซอร์ของนายจ้างคนเดียวกัน หลังถือวีซ่า TSS มาเป็นเวลา 3 ปี” นายไมเคิล วอล์กเกอร์ อธิบาย

ผู้ถือวีซ่าประเภทระยะสั้น จะไม่มีทางเลือกให้สามารถเปลี่ยนไปเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียได้ ที่สำคัญคือ จะมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดสำหรับการสมัครขอวีซ่า TSS มากกว่าวีซ่า 457

นายนีเลช นันดัน เป็นที่ปรึกษาพิเศษของบริษัท My Visa Australia ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่ากล่าวว่า ผู้สมัครขอวีซ่า TSS จำเป็นต้องมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น และจำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานมากกว่า ที่กำหนดเคยไว้สำหรับขอวีซ่า 457

“มีข้อกำหนดให้ผู้ขอวีซ่าชั่วคราว 2 ปีต้องมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ก่อนหน้านี้ ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องจึงจะขอวีซ่าชั่วคราวได้ และสำหรับผู้ถือวีซ่า 4 ปี การจะได้วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรนั้น ขณะนี้ กำหนดให้ต้องมีประสบการณ์การทำงาน 3 ปีเช่นกัน” นายนันดัน เผย

วีซ่าคู่ครอง

การเปลี่ยนแปลงด้านวีซ่าของออสเตรเลียอีกอย่างที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้นั้นเกี่ยวกับวีซ่าคู่ครอง

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียต้องการเริ่มใช้กระบวนการ 2 ขั้นตอน โดยจะให้ผู้เป็นสปอนเซอร์นั้นต้องได้รับการอนุมัติให้เป็นสปอนเซอร์  ก่อนที่คู่ครองจะสามารถยื่นใบสมัครขอวีซ่าได้

นายนีเลช นันดัน กล่าวว่าการตรวจสอบผู้เป็นสปอนเซอร์ที่รอบคอบมากขึ้นนั้น นับว่าเป็นข่าวดีของคู่ครอง

“คู่ครองจากต่างประเทศจะได้ทราบอย่างเต็มที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านอาชญากรรมในอดีตทั้งในออสเตรเลียและในต่างประเทศของผู้เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ มีคู่ครองที่เข้ามาและไม่รู้อะไรในเรื่องนี้เลย หรือไม่ตระหนักถึงพฤติกรรมด้านอาชญากรรมในอดีตของผู้เป็นสปอนเซอร์เลย”

วีซ่าสำหรับพ่อแม่

ในปี 2017 รัฐบาลประกาศวีซ่าชั่วคราวใหม่ สำหรับสปอนเซอร์พ่อแม่ แต่ร่างกฎหมายเรื่องนี้ยังคงการอนุมัติจากวุฒิสภา

นายไมเคิล วอล์กเกอร์ เปิดเผยเกี่ยวกับวีซ่าสำหรับพ่อแม่นี้ว่า

“ข้อเสนอเกี่ยวกับวีซ่าชั่วคราวสำหรับพ่อแม่ ที่เราได้รับข้อมูลมานี้ จะให้ระยะเวลาพำนักสูงสุด 10 ปี หากมีผลบังคับใช้ และจะไม่มีเงื่อนไขให้ต้องผ่านการทดสอบความสมดุลของจำนวนสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากสำหรับค่าสมัครวีซ่าประเภทนี้”

ค่าสมัครวีซ่าประเภทนี้สำหรับการพำนัก 3 ปี อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์ ระยะเวลา 5 ปี มีค่าสมัคร 10,000 ดอลลาร์ และสำหรับระยะเวลา 10 ปี มีค่าสมัคร 20,000 ดอลลาร์

เมื่อผู้ถือวีซ่าพำนักอยู่ในออสเตรเลียครบ 10 ปีแล้ว พวกเขาจะไม่สามารถสมัครขอวีซ่าประเภทนี้ได้อีก และจะไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

การขอสมัครเป็นพลเมืองออสเตรเลีย

ด้านการขอเป็นพลเมืองออสเตรเลียนั้น นายไมเคิล วอล์กเกอร์ กล่าวว่า คาดกันว่ารัฐบาลจะนำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สัญชาติออสเตรเลียฉบับแก้ไขใหม่มาให้รัฐบาลพิจารณาเพื่ออนุมัติอีกครั้ง โดยจะมีเงื่อนไขที่ยากขึ้นสำหรับการจะได้สัญชาติออสเตรเลีย

“การเปลี่ยนแปลงที่เสนอคือผู้สมัครจะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรมาเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปีก่อนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสมัครขอเป็นพลเมืองได้ และอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว จะมีมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นด้วย” นายวอล์กเกอร์ กล่าว

ขณะนี้ ผู้สมัครจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลา 4 ปี โดยใน 4 ปีที่ว่านั้น ต้องผู้อยู่อาศัยถาวร 1 ปี จึงจะมีสิทธิสมัครเป็นพลเมืองได้ และไม่มีข้อกำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ

หากคุณอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านวีซ่าเหล่านี้ คุณควรติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงกิจการมหาดไทย ที่ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลด้านวีซ่าอย่างทันท่วงที

ฟังรายงานเต็มได้จากพอดคาสด้านบน


 


Share