กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ปาริษา อิมานิราด นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยโรคมะเร็งที่ซานฟรานซิสโก เธอแต่งงานแล้วและมีเพื่อนฝูงหลายคน และเธอชอบออกไปทานอาหารนอกบ้านคนเดียวสัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้ง
ปาริษากล่าวว่าการทานอาหารคนเดียวทำให้เธอมีเวลาคิดหรืออ่านหนังสือ เธอพยายามหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์และพร้อมดื่มด่ำกับความเงียบสงบ
เธอไม่ใช่คนเดียวที่ต้องการทานอาหารคนเดียวในบางครั้ง
ฉันเป็นคนชอบเข้าสังคมมาก มีเพื่อนเยอะแยะและฉันชอบใช้เวลากับพวกเขา แต่ฉันก็ชอบที่จะมีเวลาให้ตัวเองบ้าง บางครั้งการออกไปที่ร้านอาหารดีๆ และทานมื้ออาหารอร่อยๆ คนเดียวก็เป็นสิ่งที่เพลิดเพลินมากจริงๆปาริษากล่าว
ผู้ชายกำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวคนเดียวในร้านอาหาร Credit: Pexels/Mart Production
ที่ญี่ปุ่น มีคำศัพท์เฉพาะสำหรับการทานอาหารคนเดียวว่า: “โอฮิโตริซามะ” (Ohitorisama) ซึ่งหมายถึง “คนเดียว” แต่มีการเติมคำยกย่องทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อทำให้ผู้ทานรู้สึกไม่ลังเล
ผลสำรวจล่าสุดพบว่า 23% ของคนญี่ปุ่นทานอาหารนอกบ้านคนเดียว เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2018
เดบบี้ ซู ผู้บริหารของ OpenTable คิดว่างานแบบทางไกลเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การทานอาหารคนเดียวเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนมองหาวิธีพักผ่อนจากการทำงานทื่บ้าน
"การเดินเข้าไปที่ร้านและการทานอาหารคนเดียวคือความลงตัว การทานอาหารคนเดียวช่วยให้คุณเข้าถึงร้านอาหารที่เป็นที่นิยมหรือจองโต๊ะยากได้ง่ายขึ้น และเมื่อคุณอยู่คนเดียว คุณจะสังเกตได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ การบริการ หรืออาหาร คุณยังสามารถสั่งอะไรก็ได้ตามใจ ซึ่งในฐานะแม่ บางครั้งฉันไม่มีทางเลือกแบบนั้นเมื่อทานกับครอบครัว"
ในบางกรณี ผู้ทานอาหารคนเดียวเพียงต้องการให้รางวัลตัวเองหรือลองร้านใหม่ๆ
และวิกฤตโควิดยังทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในระหว่างทานอาหารลดลง
สมาร์ทโฟนช่วยให้บางคนรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น แม้จะอยู่คนเดียว รวมถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของประชากรยังสามารถอธิบายถึงแนวโน้มนี้ได้ด้วย
ในปี 2019 ศูนย์วิจัย Pew Research พบว่า 38% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่อายุ 25-54 ปี อาศัยอยู่คนเดียวโดยไม่มีคู่ เพิ่มขึ้น 29% จากผลการสำรวจปี 1990
ที่ญี่ปุ่น ครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปี 2040 สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่า มี 2.8 ล้านครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวในปี 2023
ทิม สแตนนาร์ดผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาสำหรับร้านอาหารและการบริการในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า
"มีช่วงเวลาหนึ่งที่การทานอาหารคนเดียวแทบไม่มีเลย แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับการทานคนเดียวเริ่มลดลง โดยเฉพาะหลังโควิดระบาด การได้เห็นคนคนเดียวในร้านอาหาร ที่ตั้งใจมาเพื่อประสบการณ์ อาหาร และบริการเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมาก แน่นอนว่าเราอาจได้เงินเพิ่มขึ้นถ้าอีกคนมานั่งร่วมโต๊ะ แต่ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีลูกค้าทานอาหารคนเดียว"
ความสนใจในการเดินทางคนเดียวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเดินทางอายุ 55 ปีขึ้นไป ยังส่งผลให้มีการทานอาหารคนเดียวมากขึ้น ร้านอาหารบางแห่งไม่ค่อยยินดีที่จะจัดโต๊ะให้ผู้ทานคนเดียว เพราะโต๊ะสามารถใช้กับลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้มากกว่า
ร้านอาหารหรูแห่งหนึ่งในลอนดอนสร้างความฮือฮาในปีที่แล้ว เมื่อเริ่มเก็บค่าอาหารจากลูกค้าทานคนเดียวในราคาเท่ากับลูกค้าสองคน
อย่างไรก็ตาม บางร้านมองว่าการเสียโต๊ะให้กับผู้ทานคนเดียวก็คุ้มค่า เพราะพวกเขามักเป็นลูกค้าประจำและกลับมาใช้บริการซ้ำบ่อยๆ
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่