สถาบัน Christie’s (คริสตีส์) เป็นสถาบันจัดการประมูลชื่อดัง ในนครนิวยอร์ก ที่ขายทุกอย่างตั้งแต่งานศิลปะของปิกัสโซ ไปจนถึงชุดเดรสของเจ้าหญิงไดอานา
และเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสถาบันจัดการประมูล Christie’s ได้จัดการนิทรรศการประมูลผลงานศิลปะ 34 ชิ้น
รวมถึงศิลปะดิจิทัลที่ถูกขายในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลที่มีหนึ่งเดียวหรือ NFTs และยังมีหุ่นยนต์ที่วาดภาพเหมือนตนเอง ที่สามารถวาดรายละเอียดเพิ่มเติมลงบนผืนผ้าใบ ในทุกครั้งที่มีการเสนอราคาประมูล
งานศิลปะทั้งหมดที่ถูกขายในครั้งนี้ ล้วนสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ และนี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการประมูลศิลปะ AI ที่สถาบันการประมูลระดับโลก
ดร. แจสมิน เฟฟเฟอร์คอร์น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เชื่อว่า ในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์อาจกลายเป็นส่วนสำคัญของวงการศิลปะมากขึ้น
“หากเรามองในแง่ประวัติศาสตร์ ฉันคิดว่าสุดท้ายแล้วปัญญาประเดิษฐ์จะได้รับการยอมรับในวงการศิลปะ ฉันมักเปรียบเทียบกับการถ่ายภาพ
ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้ถูกมองว่าเป็นศิลปะที่แท้จริง จนกระทั่งมันเริ่มเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ และต่อมาในสถาบันประมูลต่าง ๆ ฉันคิดว่าเราจะเห็นเส้นทางที่คล้ายกันสำหรับ AI แต่อาจจะเกิดเร็วขึ้นกว่าที่เคยเกิดขึ้นกับการถ่ายภาพ”
กระแสตอบกลับจากเหล่าศิลปิน
การประมูลในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ "Augmented Intelligence" (อักเมนเต็ด อินเทลลิเจน) และสามารถทำรายได้กว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสต่อต้านกับการประมูลในครั้งนี้ โดยมีศิลปินกว่า 6,500 คน ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลดังกล่าว
แม้จะมีกระแสต่อต้าน แต่ ซู ไบเออร์ ศิลปินมัลติ-ดิสซิปพลิน หรือ สหศาสตร์ศิลป์ กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างศิลปะที่สร้างโดยมนุษย์และ AI อาจไม่ชัดเจนเท่าที่หลายคนคิด
เธอยอมรับว่าพัฒนาการของ AI ในวงการศิลปะ ทำให้เธอทั้งหลงใหลและต่อต้านไปพร้อม ๆ กัน ซู ไบเออร์ บอกว่าเธอใช้แนวทางใหม่หลายอย่าง รวมถึง AI ในการสร้างงานศิลปะของตน
"ฉันชอบใช้ AI เพราะมันไม่สมบูรณ์แบบ และนั่นแหละคือสิ่งที่ฉันชอบ ฉันมองมันเหมือนนักพยากรณ์ไม่ใช่พระเจ้า แต่ฉันแค่ให้คำสั่งหรือคำถาม แล้วมันก็ตอบกลับมา มันเป็นเหมือนกระบวนการทำงานร่วมกัน"
นอกจากนี้ ซู ไบเออร์ ยังใช้เทคโนโลยี AI เพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นอีกด้วย เธออธิบายว่า
"มันไม่ได้ดูน่ากลัวหรืออันตราย ไม่ได้เหมือนในหนัง Black Mirror หรือ The Terminator อะไรแบบนั้น ฉันแค่ถามคำถามอย่าง ‘ฉันคือใคร?’ หรือ ‘ซู ไบเออร์ คือใคร?’ มันเป็นการเล่นกับความย้อนแย้ง เพราะฉันใช้ AI ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ มาช่วยสำรวจความหมายของการเป็นมนุษย์ของตัวเอง"
เทรนด์การใช้ AI ในแวดวงศิลปะในออสเตรเลีย
เมื่อปีที่แล้วการประกาศรางวัล Brisbane Portrait Prize (บริสเบน พอร์ทเทรต ไพรซ์) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับสมัคร โดยระบุว่า "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามการใช้ AI ในการสร้างงานศิลปะโดยสิ้นเชิง"
เดิมทีผู้สมัครสามารถส่งผลงานที่สร้างขึ้นจากแพลตฟอร์ม AI อย่าง Midjourney หรือ DALL-E ได้ทั้งหมด
แต่หลังจากได้รับเสียงวิจารณ์จากศิลปินบางกลุ่ม ผู้จัดงานจึงปรับเงื่อนไขใหม่ ให้อนุญาตเฉพาะผลงานที่ใช้ AI เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์เท่านั้น
และในปีนั้น เดนนิส แมคคาร์ท ชนะรางวัล Digital Award พร้อมเงินรางวัล $10,000 จากผลงานภาพเหมือนตนเองที่ผ่านการประมวลผลด้วย AI
ด้านศิลปินชนพื้นเมือง บีรุงกา วีราดจูรี ชาว Wiradjuri และผู้ก่อตั้ง Birrunga Gallery (เบอร์รุงกา แกลอรี) ผู้ซึ่งเคยคว้ารางวัล Packer Prize ในปี 2021 จากผลงานภาพวาด "Night Rainbow"
อ่านเพิ่มเติม

อธิบายวิถีออสซี: ศิลปะร่วมสมัย
แต่เมื่อปีที่แล้ว แกลเลอรีของเขาตัดสินใจคว่ำบาตรรางวัล Brisbane Portrait Prize เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางการใช้ AI และเขายืนยันว่าจะไม่ส่งผลงานเข้าประกวดอีกในปีนี้ คุณ วีราดจูรี มองว่า การตัดสินใจของ Brisbane Portrait Prize เป็นเรื่องน่าเสียดาย
"มันน่าเสียดายจริง ๆ เพราะฉันรู้ว่ามีคนที่เต็มไปด้วยเหตุผลอยู่ในองค์กรนี้ แต่ฉันก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าฉันเคารพการตัดสินใจที่เกิดขึ้น
ศิลปินชนพื้นเมือง บีรุงกา วีราดจูรี ย้ำว่า เขาไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
ตรงกันข้าม เขากลับมองว่า ศิลปะควรเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงและท้าทายแนวคิดเดิม ๆ เขาชี้ว่า
"การนำงานศิลปะของชนพื้นเมืองไปใช้ซ้ำโดยไม่มีการไตร่ตรอง คือการล่าอาณานิคมและขโมยวัฒนธรรมแบบใหม่ มันทำให้ตัวตนของเราถูกลดทอนและเลือนหายไปอีกครั้ง"
ศิลปะกับลิขสิทธิ์
คุณ วีราดจูรี เผยว่า การเหมารวมและการลอกเลียนศิลปะของชนพื้นเมืองยังคงเป็นปัญหาที่เขาต้องเผชิญ
ภายใต้ โครงการพัฒนาศิลปินเชิงวัฒนธรรม ของแกลเลอรีของเขา เขาสนับสนุนศิลปินพื้นเมืองรุ่นใหม่ โดยให้โอกาสพวกเขาสร้างสรรค์ผลงานสำหรับแผนปฏิบัติการสมานฉันท์ (Reconciliation Action Plans) ขององค์กรธุรกิจต่างๆ
แต่ปัญหาที่เขายังคงเจออยู่คือ หลายคนยังคงขอให้เขาวาดศิลปะแบบ Dot painting "ดอทเพนติ้ง" ซึ่งเป็นสไตล์ศิลปะจาก พื้นที่ทะเลทรายส่วนกลางและพื้นที่ทางตะวันตก ซึ่ง ไม่ใช่ศิลปะแบบ Wiradjuri ที่เป็นรากเหง้าของเขาในรัฐนิวเซาท์เวลส์
ดร. หลุยส์ บัคกิงแฮม ซีอีโอของ Arts Law Centre Australia ซึ่งให้คำปรึกษากฎหมายเฉพาะทางแก่ศิลปินชนพื้นเมือง ผ่านโครงการ Artists in the Black เตือนว่า AI กำลังทำให้มีการบิดเบือนวัฒนธรรมและทำให้เกิดศิลปะของชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ศิลปะดั้งเดิมเพิ่มมากขึ้น
ดร. บัคกิงแฮม เตือนว่า ตลาดศิลปะของชนพื้นเมืองได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายของที่ระลึกและศิลปะปลอม ซึ่งส่งผลเสียต่อศิลปินชนพื้นเมือง
"เรารู้ดีว่าตลาดศิลปะของชนพื้นเมืองมีความสำคัญแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดของที่ระลึกและศิลปะปลอมก็เติบโตขึ้นอย่างมาก และกำลังทำลายตลาดศิลปะชนพื้นเมืองที่เป็นของแท้"
โปรแกรมเช่น Adobe Stock ถูกวิจารณ์เรื่องการนำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย โดยมีภาพที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น มีลวดลายตามร่างกาย หรือเครื่องประดับของชนพื้นเมืองอเมริกัน
การค้นหา "ศิลปะพื้นเมืองออสเตรเลีย" ยังพบภาพ ดิดเจอริดู บูมเมอแรง และงานศิลปะสไตล์ดอทเพนติ้งที่สร้างโดย AI ซึ่งขายในราคาสูงถึง $90 ต่อหนึ่งภาพ
ดร. หลุยส์ บัคกิงแฮม ระบุว่า แม้กฎหมายลิขสิทธิ์ออสเตรเลียจะคุ้มครองศิลปินตลอดชีวิตและบวกไปอีก 70 ปี แต่สำหรับ ศิลปะชนพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กฎหมายนี้อาจไม่เข้มแข็งเพียงพอ
ปัญหาจะมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อเป็นศิลปะที่สร้างโดย AI เนื่องจากกฎหมายออสเตรเลีย ไม่ให้สถานะลิขสิทธิ์กับ AI เพราะไม่มีผู้สร้างที่เป็นมนุษย์ ทำให้การควบคุมการใช้ผลงานศิลปินใน AI เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก ดร. บัคกิงแฮม ให้ข้อมูลว่า
"การประมูลของสถาบัน Christie’s ครั้งล่าสุดนี้ทำยอดขายได้มากกว่าที่หลายคนคาด แต่ก็สร้างกระแสต่อต้านจากศิลปินที่มองว่าการประมูลศิลปะประเภทนี้เป็นปัญหา"
เพื่อปกป้ององค์ความรู้ของชนพื้นเมืองท่ามกลางการเติบโตของ AI รัฐบาลออสเตรเลียได้จัดตั้ง คณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง (ICIP) ขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่การหารือถูกระงับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยชิคาโกได้พัฒนาเครื่องมืออย่าง Nightshade และ Glaze (ไนท์เชด และ เกลซ) เพื่อป้องกัน AI ดึงข้อมูลจากศิลปินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เครื่องมือที่เปลี่ยนข้อมูลภาพเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลของภาพในลักษณะที่ทำให้ AI เรียนรู้ผิดเพี้ยนไป เมื่อ AI นำภาพที่ถูกแก้ไขเหล่านี้ไปฝึกโดยไม่ได้รับอนุญาต มันจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือสับสน ส่งผลให้ AI ทำงานผิดพลาดหรือสร้างภาพที่คาดเดาไม่ได้
เช่น หาก AI ถูกสั่งให้สร้างภาพวัวบินในอวกาศ อาจได้ภาพกระเป๋าแทน
ดร. แจสมิน เฟฟเฟอร์คอร์น จากศูนย์ศิลปะ AI และจริยธรรมดิจิทัล ชี้ว่า แม้ AI จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ศิลปินที่เป็นมนุษย์มีความเป็นมายาวนานในการปรับสมดุลระหว่างศิลปะ เทคโนโลยี และจริยธรรม
ดร. เฟฟเฟอร์คอร์น เชื่อว่า การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์และสำรวจความซับซ้อนของ AI ในศิลปะจะช่วยให้ศิลปินรักษาความเป็นตัวเองได้
"ฉันหวังว่าหากเรามีส่วนร่วมและตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น เราจะสามารถผลักดันและทวงคืนอำนาจของเราได้ เพราะมันจะทำให้เราเห็นว่า ยังมีทางเลือกและแนวทางอื่น ๆ อีกมากมาย"
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ