ดูแลชีวิตที่กำลังจะจากไป...ด้วยความเข้าใจในวัฒนธรรม

Frances Davey's mother is receiving palliative care tailored to her Greek culture (SBS).jpg

คุณ เวอร์จิเนีย คุณแม่ของ Frances Davey กำลังได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมกรีกของท่าน Source: SBS

สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์แห่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแห่งชาติ หรือ National Palliative Care Week (แพลลิเอทีฟ แคร์) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 30 แล้ว โดยธีมในปีนี้คือหัวข้อที่ว่า “คุณวางแผนในช่วงสุดท้ายของชีวิตไว้หรือไม่?” เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเริ่มต้นพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลในช่วงท้ายของชีวิตโดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางวัฒนธรรม


*รายงานเรื่องนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับ SBS Greek

ฟรานซิส เดวีย์ เล่าว่า คุณ เวอร์จิเนีย คุณแม่ของเธอ ย้ายมาจากประเทศกรีซเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ปัจจุบันอายุ 96 ปี

และกำลังได้รับการดูแลแบบประคับประคองหรือ แพลลิเอทีฟ แคร์ (Palliative Care) ที่ ฟรอนดิธา แคร์ (Fronditha Care) ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เชี่ยวชาญในการให้บริการแก่ชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีก

“คุณแม่ของฉันพูดได้สองภาษา แต่ตอนนี้ที่ท่านเป็นโรคสมองเสื่อม ท่านกลับไปใช้ภาษาแม่ของตัวเอง และมักพูดถึงช่วงวัยเด็กในหมู่บ้านเล็ก ๆ เหมือนกับว่าท่านไม่ได้อยู่ในออสเตรเลียอีกต่อไปแล้ว ท่านลืมช่วง 40 ปีหลังในชีวิตไปหมดเลย การดูแลแบบประคับประคองที่เข้าใจในวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ฟรานซิสกล่าวว่า การเข้าใจและให้ความสำคัญกับความต้องการทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของแม่เธอ เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลที่เข้าใจและเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรี

“คุณแม่ยังคงอยากเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อทางศาสนา และวันสำคัญต่าง ๆ อย่างเช่น วันนักบุญประจำชื่อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลอีสเตอร์ เพราะสิ่งเหล่านี้คือความทรงจำดี ๆ ที่เธอมี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเธอมาก”

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เหมาะสมตามวัฒนธรรม ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนออนไลน์ใหม่ ซึ่งเปิดตัวในแอปพลิเคชัน ‘Ask Annie’ ขององค์กร Dementia Australia เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิ Fronditha Care Foundation

ดร. เดวิด ไซคส์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ด้านภาวะสมองเสื่อมแห่ง Dementia Australia กล่าวว่า

“หลักสูตรใหม่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองนี้ มีเป้าหมายเพื่อจำลองสถานการณ์จริงให้กับผู้ดูแล เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้เคล็ดลับและแนวทางในการดูแลและให้การสนับสนุนอย่างมีความหมาย”

เฟย์ สปิเทรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fronditha Care กล่าวว่า

“ทุกวันนี้ผู้คนมักต้องการใช้ชีวิตในบ้านของตนเองให้นานที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักอยู่ในระยะช่วงสุดท้ายของภาวะป่วยไข้ เช่น ภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องบูรณาการความรู้ เรื่องการดูแลแบบประคับประคองให้เข้ากับความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ทีมงานของเราสามารถเข้าใจและดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น”

ตามข้อมูลขององค์กรแพลลิเอทีฟ แคร์ ออสเตรเลีย (Palliative Care Australia) มีผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายทุกช่วงวัยเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 400 คนในออสเตรเลีย ซึ่งหลายคนสามารถได้รับประโยชน์จากการดูแลแบบประคับประคอง

คามิลลา โรแลนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กร Palliative Care Australia ระบุว่า การดูแลแบบประคับประคองคือสิทธิมนุษยชน ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในช่วงสุดท้ายของชีวิต

“เราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และ 37% ของ ชาวออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กว่า มาจากต่างประเทศ ดังนั้นเราจำเป็นต้องมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับแผนการดูแลที่ออกแบบเฉพาะบุคคลและยึดผู้รับการดูแลเป็นศูนย์กลาง”

และนั่นคือสิ่งที่วารูนี การูสิงหะ พยาบาลวิชาชีพ รู้สึกผูกพันและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ในประเพณีของคริสต์ศาสนาออร์โธดอกซ์แบบกรีก จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลด้านจิตวิญญาณ เรามีการเชิญบาทหลวงมาสวดมนต์และให้พร อีกทั้งครอบครัวชาวกรีกส่วนใหญ่มักต้องการอยู่กับคนที่ตนรักในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต และมักจะนำภาพนักบุญแบบกรีกมาตั้งไว้ในห้อง เปิดเพลงเบา ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สงบ สิ่งเหล่านี้ก็ถูกเน้นย้ำไว้ในบทเรียนเช่นกัน”

แนวทางการดูแลดังกล่าวที่เน้น การดูแลที่เต็มไปด้วยความเมตตา ให้ความเคารพ และสนับสนุนสิทธิในการเลือกของผู้ป่วยในช่วงบั้นปลายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในช่วงปี เดือน หรือวันสุดท้าย...

ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ และ


Share