กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ในวันชาติออสเตรเลียของทุกปีมักจะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนออสเตรเลีย
Order of Australia หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรเลีย จัดเป็นรางวัลเพื่อยกย่องเกียรติสำหรับความสำเร็จและการทำงานให้ชุมชน โดยรางวัลนี้มี 2 ประเภท คือประเภทสำหรับพลเรือนและสำหรับทหาร
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2025 วันชาติออสเตรเลีย เทสซา ซัลลิวัน กงสุลกิติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรไทย ณ นครเมลเบิร์น ได้รับ Order of Australia นับเป็นคนไทยคนแรกในออสเตรเลีย
กงสุลฯ เทสซาได้ให้สัมภาษณ์กับเอสบีเอส ไทยถึงประวัติส่วนตัวโดยคร่าวว่า เธอเดินทางมาออสเตรเลียเมื่อเธออายุ 18 ปี ทำงานเป็นอาสาสมัครมายาวนาน ส่วนตัวเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและชอบทำงานเบื้องหลัง ตัวอย่างเช่น
“ในช่วงที่เกิดสึนามิ วันบ็อกซ์ซิ่งเดย์ ฉันทำงานให้กับ Oxfam ในตำแหน่งแปลเอกสาร ฉันช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ทำงานด้านกฎหมายเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย และแม้แต่ให้ที่พักแก่ผู้หญิงบางคนในบ้านของฉัน และฉันยังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลออสเตรเลีย และตอนนี้ฉันเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกที่เป็นคนไทย และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Order of Australia ฉันยังทำโครงการต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ตัวอย่างเช่น โครงการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลเด็กที่ออสเตรเลีย ช่วยโครงการวิทยาศาสตร์กัญชาทางการแพทย์ ฉันยังช่วยก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กออทิสติก ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
![Image for read more article 'เรื่องที่เกี่ยวข้อง'](https://images.sbs.com.au/dims4/default/e0adf82/2147483647/strip/true/crop/3878x2182+0+4/resize/1280x720!/quality/90/?url=http%3A%2F%2Fsbs-au-brightspot.s3.amazonaws.com%2F45%2Fef%2F862e0b1d4765897a7ec0fb710202%2Fphoto-tessa-in-studio-4.jpeg&imwidth=1280)
กงสุลกิติมศักดิ์ท่านใหม่ ณ นครเมลเบิร์น
นอกจากนี้ กงสุลฯ เทสซาได้เคยจัดงานไว้อาลัยให้เหยื่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ. หนองบัวลำภู เมื่อปี 2022 ที่ศาลากลางนครเมลเบิร์น และช่วยงานเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมไทยประจำนครเมลเบิร์นมาเป็นเวลาหลายปีด้วย
เมื่อมีคนไทยเสียชีวิตในรัฐวิกตอเรีย เธอยังทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อส่งศพของผู้เสียชีวิตกลับประเทศไทย ในทางกลับกันเธอก็ให้ความช่วยเหลือกับคนออสเตรเลียด้วย เช่น การนำศพของฮอลลี โบลส์และบิอังกา โนลส์ นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่เสียชีวิตจากการถูกวางยาพิษเมทานอลที่ประเทศลาว หลังถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทยและเสียชีวิตลงในที่สุด
สำหรับการได้รับรางวัล Order of Australia กงสุลฯ เทสซาอธิบายถึงกระบวนการเสนอชื่อว่าต้องมีคนเสนอชื่อเพื่อขอรับรางวัลนี้ โดยต้องมีผู้รับรองเขียนจดหมายสนับสนุนการเสนอชื่อด้วย และจะมีคณะกรรมการตัดสินทำการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิง ข้อเท็จจริง และวุฒิทั้งหมดด้วย
“ต้องเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่โดดเด่น และมีบทบาทหรือสิ่งที่พวกเขาทำจนประสบความสำเร็จ และต้องทำหน้าที่นี้เป็นระยะเวลานาน ทั้งต้องมีรางวัลอื่นๆ และการยอมรับอื่นอีกด้วย ฉันได้รับรางวัล Marjorie Glasson Community Service รางวัล 40 under 40 most influential Asian Australian Award รางวัล Community Advocacy Award โดย Asialink จาก University of Melbourne and Asia Society ฉันได้รับทุนการศึกษาหลายทุนเช่นกัน ฉันคิดว่านั่นอาจทำให้ฉันเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเมื่อฉันเป็นนักการเมือง ตอนที่ฉันลาออก ฉันโชคไม่ดีที่แม้ว่าฉันจะไม่ต้องการมีส่วนในเรื่องนี้ แต่ในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหว MeToo ฉันเป็นนักการเมืองหญิงคนแรกที่ทำเช่นนั้นในออสเตรเลีย และฉันเดาว่านั่นช่วยปูทางให้กับคนอื่นๆ ที่ตามมา เช่น บริททานี ฮิกกินส์ และเกรซ เทม ฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันเป็นที่รู้จัก แต่ฉันไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เสนอชื่อฉันหรือใครเป็นผู้อ้างอิง จริงๆ แล้วทั้งหมดนี้ทำกันแบบภายใน ดังนั้น และในความเป็นจริง ถ้าคุณคิดว่าจะได้รับรางวัล คุณจะไม่มีสิทธิ์พูดถึงมันด้วยซ้ำ”
![Photo-Tessa Sullivan 03.jpg](https://images.sbs.com.au/a2/d3/51da8cac463580c07edce9a41131/photo-tessa-sullivan-03.jpg?imwidth=1280)
กงสุลกิติมศักดิ์ฯ เทสซา ซัลลิวัน ขณะกล่าวเปิดงานมิตรภาพรัฐสภาไทย-ออสเตรเลียแห่งรัฐวิกตอเรีย ณ บ้านพัก Credit: JO DANAI
“ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลเช่นนี้ และฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง มันทำให้ฉันรู้สึกว่าควรมีการเสนอชื่อชาวไทยคนอื่นๆ เพื่อรับรางวัลนี้ มันสร้างแรงบันดาลใจให้ฉันได้จริงๆ เพราะฉันคิดว่ามีหลายคนในชุมชนของเราที่ได้มีส่วนช่วยเหลือชุมชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และฉันอยากจะยกย่องบุคคลชาวไทยคนอื่นๆ ที่ทำเพื่อชุมชนของเรามากมายเช่นกัน"
ดังนั้นรางวัลนี้ทำให้ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และก็ทำให้ฉันมีแรงบันดาลใจที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ในชุมชนของเราเช่นกันกงสุลฯ เทสซากล่าว
กงสุลฯ เทสซามองย้อนถึงเมื่อเธอเติบโตมาในประเทศไทยกับคุณแม่ของเธอ ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอรู้สึกโชคดีมากที่แม่ของเธอเห็นความสำคัญของการศึกษา และเธอยังสะท้อนถึงสถานการณ์เดียวกันนี้ที่เธอสัมผัสในชุมชนไทยที่ออสเตรเลีย
“ฉันเห็นสิ่งนี้สะท้อนอยู่ในชุมชนไทยที่นี่มากมาย พวกเขาพยายามอย่างหนักเพื่อให้ลูกๆ ของพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ออสเตรเลียมีโอกาสให้มากมาย ตอนที่ฉันมาที่นี่ครั้งแรก ฉันเคยทำความสะอาดอาคารสำนักงานและเคยเป็นพนักงานเสิร์ฟ ฉันเคยเป็นคนประเภทที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เป็นคนประเภทที่ไม่มีใครรู้จัก และสำหรับฉัน ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยคิดว่าจะมาลงเอยที่นี่ แต่ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ ที่แม่ของฉันมีประสบการณ์การเป็นผู้อพยพ และผลักดันให้ฉันก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองและก้าวข้ามสิ่งที่แม่เคยได้รับในชีวิต ดังนั้น ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการสร้าง นั่นคือ ถ้าฉันได้รับรางวัลนี้ ใครๆ ในชุมชนของเราก็สามารถทำได้เช่นกัน และฉันหวังจริงๆ ว่าพวกเขาจะทำสำเร็จ”
![7R506004.jpg](https://images.sbs.com.au/b5/4b/07d54d494749acb1975907ce4e95/7r506004.jpg?imwidth=1280)
กงสุลฯ เทสซา ซัลลิวัน และเอกอัคราชทูตฯ อาจารี ศรีรัตนบัลล์ ร่วมด้วยเดวิด ฮ็อดเจตต์ ประธานกลุ่มมิตรภาพฯ รัฐวิกตอเรีย Credit: JO DANAI
กงสุลฯ เทสซาหวังอยากให้ชุมชนไทยในรัฐวิกตอเรียแข็งแกร่งขึ้น สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอก่อตั้งกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-ออสเตรเลีย แห่งรัฐวิกตอเรีย
โดยเธอกล่าวว่าเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย ทั้งไทยยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากเป็นอันดับ 5 เทียบเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี 2024 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยต่อออสเตรเลียได้อย่างแท้จริง