กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
คุณอาจสังเกตเห็นว่าขนาดของสินค้าที่คุณซื้อ เช่น นม ขนมปัง มันฝรั่ง หรือพาสตา มีปริมาณน้อยลง แต่ราคายังคงเท่าเดิมหรืออาจมีราคาสูงขึ้น
นายกรัฐมนตรีอัลบานีซีประกาศ จะใช้กฎหมายที่เข้มงวดกว่าเดิมในการควบคุมราคาต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ในออสเตรเลีย มุ่งช่วยเหลือผู้บริโภคในวิกฤตค่าครองชีพสูง
“หนึ่งในสิ่งที่เราประกาศ ที่เราจะออกกฎหมายปีนี้ คือการบังคับใช้กฎเรื่องอาหารและร้านขายของชำ ซึ่งไม่เคยมีการบังคับใช้มาก่อน เดิมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ แต่เราจะบังคับใช้กฎหมาย และนั่นหมายความว่าจะมีบทลงโทษหลายล้านดอลลาร์สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ชริงเฟลชันเกิดขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าน้ำหนัก 500 กรัม จะไม่กลายเป็น 400 กรัมในราคาเท่าเดิม หลายคนสังเกตเห็นเรื่องนี้ ผู้ผลิตลดปริมาณสินค้าลง ขณะที่ขึ้นราคาสินค้า นั่นเป็นการโกงผู้บริโภคออสเตรเลีย การบรรจุภัณฑ์ไม่ควรทำให้ลูกค้าจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าในปริมาณน้อยลง”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คุณไม่คิดไปเอง นี่คือของกินของใช้ที่ปริมาณลดลงแต่ราคาแพงขึ้นหรืออาจเท่าเดิม
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) รายงานว่าพบสถานการณ์ชริงเฟลชันมากขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ต
เพื่อจัดการกับปัญหานี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาตั้งกฎที่เข้มงวดในการกำหนดราคาสินค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าตามน้ำหนักหรือปริมาณได้ และจะกำหนดบทลงโทษหลายล้านดอลลาร์สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างรุนแรง
ด้านผู้นำฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน สนับสนุนเรื่องนี้
ประเทศของเราเป็นตลาดเสรี และเราสนับสนุนการตลาดเสรี แต่ท้ายที่สุดแล้วตลาดเสรีต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
"เราควรมีการแข่งขัน และเราควรมีการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ผลิตต้องมีความโปร่งใสในเรื่องราคาและผลิตภัณฑ์ที่ขายในตลาด และกฎหมายค่อนข้างชัดเจน หากคุณพยายามล่อลวงผู้บริโภค หากคุณพยายามปกปิดหรือดำเนินการในลักษณะผูกขาด จะต้องได้รับโทษ ผมคิดว่าผู้ผลิตที่กำลังดำเนินการลักษณะนี้อยู่ ต้องระมัดระวัง”
เกเรธ ดาวน์นิง ประธานผู้บริหารของสหพันธ์ผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้กฎหมายกำหนดราคาต่อหน่วยจะมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ที่เข้มงวดพอในการปกป้องผู้บริโภค
“กฎระเบียบนี้ผ่านเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2009 กฎการกำหนดราคาต่อหน่วยมีมาตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าข้อกำหนดจะเป็นเชิงหลักการ แต่คุณต้องแสดงข้อมูลในรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่เราพบเห็นข้อมูลที่นำเสนอไม่สอดคล้องตามกฎหมาย อ่านยาก เข้าใจได้ยาก หวังว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และให้มีบทลงโทษสำหรับการไม่นำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจน เห็นได้ชัด และง่ายต่อความเข้าใจของผู้บริโภค”
ผู้จับจ่ายกำลังคิดเงินจากใบเสร็จ Source: iStockphoto / cyano66/Getty Images/iStockphoto
ผลการไต่สวนพบว่ามีการให้ข้อมูลการกำหนดราคาที่ไม่สุจริต บางผลิตภัณฑ์ถูกโฆษณาว่าลดราคา หลังจากที่ราคาถูกปรับขึ้นแล้ว
การสอบสวนยังพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่หลายแห่งยังใช้แนวทางกักตุนสินค้า หรือการถือครองสินค้าเพื่อปิดกั้นการซื้อของคู่แข่ง
คาดว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายนี้ในปีนี้
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ยักษ์ใหญ่ซูเปอร์มาร์เก็ตมีหนาว หลังกระแสคนซื้อตรงจากแหล่งผู้ผลิตมากขึ้น