การเหยียดเชื้อชาติทวีความรุนแรงทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย

Australian Race Discrimination Commissioner Giridharan Sivaraman (AAP)

Australian Race Discrimination Commissioner Giridharan Sivaraman Source: AAP / LUKAS COCH

เหล่ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศออสเตรเลียร่วมจับมือหาทางจัดการปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสถานศึกษา และขอความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่และนักศึกษาให้ทำการรายงานหากพบพฤติกรรมรุนแรง พร้อมเผยเหตุการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกเป็นตัวกระตุ้นสำคัญต่อความรุนแรงด้านการเหยียดชาติพันธุ์ในปัจจุบัน


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

หน่วยเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนของออสเตรเลียได้เตือนถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย’ ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

โดยทางด้านกรรมาธิการว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติระบุว่า การดำเนินการอย่างเด็ดขาดจากภาคส่วนนี้เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างความเท่าเทียมและครอบคลุมสำหรับทุกคน

ทางด้านคุณอาแคช นาการาจัน (Akash Nagarajan) ได้แชร์เรื่องราวของเขาให้ฟังว่าเขาเคยมีความมุ่งมั่นที่อยากจะเติบโตในสายงานในมหาวิทยาลัย โดยหวังว่าสักวัน เขาจะได้เป็นนักกฎหมาย

โดยความพยายามของเขาถูกขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่อยากจะทำงานที่ได้ต่อสู้เพื่อผู้อื่น แต่ในวันนี้เขากลับพบว่าเขาเองก็เป็นเป้าของการถูกเหยียดเชื้อชาติอยู่เช่นกัน ในตอนที่เขาตัดสินใจลงเลือกตั้งสภานักเรียนในมหาวิทยาลัย University of New South Wales

"มีคนเคยบอกผมว่า ผมน่าจะถูกส่งกลับประเทศไปซะ และผมก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้หรือของประเทศนี้หรอก เขาบอกกับผมอีกว่าออสเตรเลียเป็นประเทศของคนขาวเท่านั้น ก่อนที่จะทำท่าทางสัญลักษณ์แบบนาซี และคว้าแผ่นพับไปจากมือผมแล้ววิ่งหนีไป ตอนนั้นผมทำอะไรไม่ทัน และได้แต่คิดว่า ประสบการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในพื้นที่ของการศึกษา มันเป็นสิ่งที่น่าตกใจมากสำหรับผม" เขาเล่า
และจากการอ้างอิงกับกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ประสบการณ์ของเขานั้นเป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วไป

ผลการสอบสวนเบื้องต้นของโครงการ Respect at Uni ได้มีการออกเตือนว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ได้มีมาตรการป้องกันหรือช่วยรับมือจากการเหยียดเชื้อชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังระบุว่า ความปลอดภัยต่อผู้คนที่ถูกเหยียดเชื้อชาตินั้นยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นนั้น มาจากการตอบสนองจากทางสถาบันเหล่านี้ยังคงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการเหยียดเชื้อชาติได้

ทางด้านกรรมาธิการว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ คุณกิริธารัน สิวรามัน (Giridharan Sivaraman) ได้อธิบายว่าความกังวลเหล่านี้เป็นปัญหาที่มีความระบบและแพร่หลาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"เห็นได้ชัดเลยว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องมีการรับมือเพื่อแก้ปัญหาด้านการเหยียดเชื้อชาติให้จริงจังกว่านี้ ผมเองก็คิดว่าจุดเริ่มต้นที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการตระหนักถึงปัญหาและความเต็มใจที่อยากจะลงมือแก้ไข หากไม่เช่นนั้น มันจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในท้ายที่สุด" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเหล่ามหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้มีการชี้แจงตอบกลับปัญหานี้ ว่ามหาวิทยาลัยของพวกเขาไม่มีพื้นที่ให้กับการเหยียดเชื้อชาติ และการสร้างสถาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ มีนับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนและเดินขบวนชุมนุมจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็เป็นอีกหนึ่งตัวการณ์สำคัญที่ยกระดับความตึงเครียดภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติยิวและความหวาดกลัวอิสลาม (islamaphobia)

ทางด้านมหาวิทยาลัยเหล่านี้ในออสเตรเลียกำลังยกระดับการเพิ่มมาตรการการรับมือกับการเหยียดเชื้อชาติ ด้วยการจัดระบบการให้คำปรึกษากับนักเรียน รวมไปถึงระบบการรับคำร้องเรียนในพื้นที่การศึกษาที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

โดยนายสิวรามัน กล่าวว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีแผนการปฏิบัติเพื่อรับมืออีกมากในอนาคต
"ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการรับมืออย่างจริงจัง เพราะพื้นที่ของการศึกษาเรียนรู้เช่นนี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่มีภูมิต้านทานจากการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภายนอก และการที่กรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า มันถึงเวลาแล้วที่แต่ละภาคส่วนจะต้องมาจับมือร่วมกันเพื่อรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปด้วยกัน ซึ่งนับมาจนถึงทุกวันนี้ ผมมองว่าทุกมหาวิทยาลัยได้ให้ความร่วมมือในระดับที่น่าพึงพอใจ" เขากล่าว

มีการรายงานที่ให้ความสำคัญเรื่องประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเหล่าพนักงานและนักศึกษาชนชาติ First Nations จำนวนไม่น้อยกล่าวว่า พวกเขารู้สึกเหมือนถูกลดคุณค่าให้เป็นเพียงแหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัย

ในขณะที่คนที่มีภูมิหลังจากประเทศแถวเอเชียและแอฟริกาก็เป็นอีกกลุ่มเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติด้วยเช่นกัน แต่คุณอาแคช นาการาจัน ได้แสดงความเห็นว่าเขาเองมีความกังวล เพราะรู้สึกถึงความกีดกันอะไรบางอย่างที่หากจะต้องรายงานประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้ออกมาให้ใครฟัง ซึ่งเขายอมรับว่าเขามีความหวาดกลัวว่าอาจจะต้องประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำอีกหากทำการรายงาน

"มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ปลูกฝังความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับประสบการณ์เช่นนี้และยังไม่สามารถทำอะไรได้ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีกระบวนการจัดการให้ชัดเจนและสร้างความมั่นใจได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้จะต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง" เขากล่าว

ทางด้านมหาวิทยาลัย UNSW ในเมืองซิดนีย์ได้เน้นย้ำกับทางเอสบีเอส ว่าทางมหาวิทยาลัยมีการจัดมาตรการรับมือต่อการเหยียดเชื้อชาติทุกรูปแบบ และต้องการสร้างความมั่นใจต่อบรรดาพนักงานและนักศึกษาให้ร่วมมือกันรรายงานหากประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ให้กับทางมหาวิทยาลัย

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share

Recommended for you