กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวัน World Radio Day ซึ่ง UNESCO ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการกระจายเสียงทางวิทยุนานาชาติเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาคมโลก
เอสบีเอส (SBS) สื่อสาธารณะของประเทศออสเตรเลียที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ทำการกระจายเสียงครั้งแรกเมื่อปี 1975 โดยที่รายการวิทยุเอสบีเอสไทย (SBS Thai) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าว เอสบีเอส ได้ทำการออกอากาศทั่วออสเตรเลียเมื่อปี 1994 หรือ 31 ปีที่แล้วเป็นต้นมา
เนื่องในวัน World Radio Day และโอกาสเฉลิมฉลองเอสบีเอสครบรอบ 50 ปี เราจะพาคุณผู้ฟังไปพูดคุยกับแฟนรายการวิทยุของเราว่าพวกเขาติดตามฟังรายการเอสบีเอสไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รายการช่วงไหนที่พวกเขาชื่นชอบ
และรายการของเรามีส่วนช่วยให้พวกเขาเข้าใจการอยู่อาศัยในออสเตรเลีย และเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศออสเตรเลียและไทยอย่างไร
![Studio.jpeg](https://images.sbs.com.au/6c/ee/c9d83f7743e181e71276a41a3661/studio.jpeg?imwidth=1280)
สตูดิโอของรายการเอสบีเอสไทยในนครเมลเบิร์น Credit: SBS Thai/Chayada Powell
คุณ น้อย เคอร์บี ผู้ฟังของรายการวิทยุเอสบีเอสไทยกล่าวว่า เธอได้ติดตามรายการวิทยุของเรามากว่า 2 ทศวรรษ ให้ความเห็นว่ารายการเอสบีเอสไทยสามารถเป็นสื่อกลางที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในออสเตรเลีย
“มันช่วยคนได้เยอะนะคะเพราะว่าสมัยก่อนพอมาอยู่ที่นี่ใช่มั้ยคะ แล้วก็ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แล้วก็ไม่รู้จักคนที่พูดภาษาไทยด้วย”
“พอมาฟังวิทยุไทยก็ทําให้หายคิดถึงบ้าน แล้วก็ทําให้มีความรู้มากขึ้น”
บทบาทในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน
ส่วน ดร. โสภา โคล ก็เป็นแฟนรายการวิทยุเอบีเอสไทยมากว่า 20 ปีเช่นกัน เปิดเผยว่าเธอชอบช่วงสัมภาษณ์ของเอสบีเอสไทยเพราะจะได้รู้จักข้อมูลของชุมชนไทยผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย และยังเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ของชุมชนไทยในออสเตรเลีย ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนเข้าหากัน
“สิ่งที่ดีมากของเอสบีเอสก็คือการสัมภาษณ์ผู้คนในออสเตรเลียซึ่งมีความหลากหลาย เราจะได้ข้อมูลของชุมชนไทยผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนเหล่านี้”
“ส่วนที่ 2 ที่พี่คิดว่าก็ดีมากก็คือข้อมูลของเอสบีเอสที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ส่วนที่ 3 ก็คือการเป็นศูนย์กลางสําหรับชุมชนไทย"
คิดว่าเอสบีเอสมีส่วนช่วยทําให้ชุมชนไทยคอนเนกกันแล้วก็ช่วยประชาสัมพันธ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนไทยค่ะดร. โสภา โคล
นอกเหนือจากการที่มีส่วนทำให้คนในชุมชนรู้จักและเชื่อมโยงเข้าหากันแล้ว รายการวิทยุเอสบีเอสไทยยังมีบทบาทในการเป็นสื่อกลางที่ทำให้ชุมชนไทยเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นๆ ในออสเตรเลียอีกด้วย
![World Radio Day เสียงสะท้อนผู้ฟังรายการ SBS Thai.jpg](https://images.sbs.com.au/e0/43/27deddc746338fd0c0059d89303b/world-radio-day-%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%97-%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9C-%E0%B8%9F-%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-sbs-thai.jpg?imwidth=1280)
รายการวิทยุเอสบีเอสไทย (SBS Thai) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าว เอสบีเอส ได้ทำการออกอากาศทั่วออสเตรเลียเมื่อปี 1994 หรือ 31 ปีที่แล้วเป็นต้นมา Credit: SBS Thai/Warich Noochouy
“เป็นเหมือนเป็นทางเชื่อมระหว่างคนไทยเชื่อมต่อไปยังชุมชนของชาวออสเตรเลีย ข้อมูลหลายอย่างมันก็มีความเกี่ยวข้องกับหรือว่ามีบริบทที่ที่ตรงกับบริบทของวัฒนธรรมออสเตรเลีย กับชุมชนคนออสเตรเลีย ซึ่งคิดว่ามันจะทําให้เราอยู่ด้วยกันได้เหมือนกับว่ามีความ unity”
LISTEN TO
คุยกับแฟนพันธุ์แท้ของเอสบีเอส ไทย
SBS Thai
05/04/201611:08
การนำเสนอข่าวสารนอกจากจะทันรวดเร็วทันเหตุการณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ของข้อมูล
แฟนรายการเอสบีเอสไทยมาตั้งแต่ยุคก่อนดิจิทัล อย่างคุณ นารี กล่าวว่าจากการที่เป็นแฟนรายการวิทยุเอสบีเอสไทยมายาวนาน เธอรู้สึกว่าได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ท่ามกลางกระแสข่าวที่มาจากแหล่งออนไลน์มากมายอย่างในทุกวันนี้
“เป็นแฟนมายาวนานค่ะ ก็รู้สึกว่าเอสบีเอสเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้นะคะ เพราะว่าตอนนี้มันมีเว็บไซต์หรือว่าข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมันก็บางทีเราก็เชื่อไม่ได้ แต่ว่าคิดว่าเอสบีเอสก็เป็นข้อมูลที่คัดกรองแล้ว”
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือระหว่างกันในชุมชนไทยในประเทศออสเตรเลีย ผู้ฟังเอสบีเอสไทยอย่าง คุณฉายสุดา เกย์ลาร์ด กล่าวว่า รายการเอสบีเอสไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้คนในชุมชนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กันและกันได้
เราสามารถได้รู้ข่าวทันเหตุการณ์ว่าอะไรเกิดขึ้นในออสเตรเลีย ทําให้เรา Aware ว่าอันนี้คนไทยด้วยกันนะ เราก็สามารถจะหยิบยื่นไปช่วยเหลือเขาได้ เช่น domestic violence มันก็เป็นอะไรที่เราต้องคอยดูแลกัน”คุณ เหน่ง ฉายสุดา เกย์ลาร์ด
การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล
แม้ว่าในยุคดิจิทัล ผู้ฟังเอสบีเอสไทยหลายคนจะไม่ค่อยได้ติดตามรายการวิทยุสักเท่าไหร่ แต่พวกเขาเปิดเผยว่าก็ยังติดตามในช่องทางออนไลน์ของเราอยู่เสมอ อย่างเช่นคุณ เมญ่า คาร์ทไรท์ เปิดเผยว่าเธอรู้จักและติดตามรายการวิทยุเอสบีเอสไทยมาตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว
ตอนที่ย้ายมาออสเตรเลียใหม่ๆ และถ้ามีเวลาก็จะติดตามฟังทางวิทยุที่ออกอากาศสดในช่วงเวลากลางคืน แต่ในปัจจุบันด้วยหน้าที่ภาระการงาน ทำให้เธอหันมาติดตามในช่องทางออนไลน์แทน ซึ่งมันช่วยให้เธอสามารถติดตามข่าวสารได้มากขึ้นทุกที่ ทุกเวลา
![Maya edit.jpg](https://images.sbs.com.au/f5/18/ee27c5ab404b8c7730e8fa921b47/maya-edit.jpg?imwidth=1280)
คุณ เมญ่า คาร์ทไรท์ แฟนรายการวิทยุเอสบีเอสไทยที่ติดตามรายการมายาวนาน Credit: Supplied/ Manaya Intasorn
"แต่ช่วงนั้นรู้สึกว่าจะเป็นเวลาช่วงค่ำนะคะ เราเนี่ยหลังจากที่ทานอาหารเสร็จแล้วเนี่ยแล้วก็มานั่งฟังข่าว แล้วก็ตกใจเนอะ ตอนที่เราได้ยินคนอ่านข่าวที่เป็นภาษาไทยในประเทศออสเตรเลียครั้งแรก หลังจากนั้นถ้าเราก็ถ้ามีเวลาเราก็พยายามจะเข้าไปตามข่าว”
ทุกวันนี้ก็ถ้ามีโอกาสก็ยังได้กดเข้าไปฟังข่าวอยู่ แต่ด้วยความที่ว่าเราเล่นโซเชียลมีเดีย เราเห็นว่าเอสบีเอสไทยก็มีอยู่ในโซเชียลมีเดียด้วย เราก็เลยได้อ่านข้อมูล ฟังข้อมูลมากขึ้นคุณ เมญ่า คาร์ทไรท์ สมาชิกชุมชนไทยในออสเตรเลีย
รายการวิทยุเอสบีเอสไทยออกอากาศทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 14.00 นาฬิกาที่ ช่อง SBS on Demand ในช่อง SBS 2 และคุณสามารถฟังรายการย้อนหลังได้ที่ ช่อง SBS 3 ในเวลา 22.00 นาฬิกา หรือติดตามเราได้ในช่องทางออนไลน์ทั้ง เว็บไซต์ เฟสบุ๊ก และอินสตราแกรม
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
![Image for read more article 'เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง'](https://images.sbs.com.au/dims4/default/271067f/2147483647/strip/true/crop/2040x1148+0+0/resize/1280x720!/quality/90/?url=http%3A%2F%2Fsbs-au-brightspot.s3.amazonaws.com%2F37%2F56%2Fa37ac94248dfb525e63ab031a1eb%2Fphoto-2025-02-10-13-37-13.jpg&imwidth=1280)
แซมบอกว่าเขามีงานที่ดีที่สุดในโลก แต่ทำไมเขาถึงจะลาออก