คนแรกในโลก หัวใจไททาเนียมต่อชีวิตให้ชายชาวออสซี

The artificial heart (SBS).jpg

หัวใจไททาเนียม หัวใจเทียมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจ Source: SBS

Get the SBS Audio app

Other ways to listen


Published 17 March 2025 12:15pm
By Abbie O'Brien, Edwina Guinan
Presented by Chollada Kromyindee
Source: SBS


Share this with family and friends


ชายชาวออสเตรเลียคนแรกในโลกที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจเทียมทั้งดวง และเขาสามารถใช้ชีวิตด้วยหัวใจเทียมได้นาน 100 วัน ระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคในภายหลัง


การหาสิ่งทดแทนหัวใจมนุษย์ที่ล้มเหลวถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการแพทย์ และผ่าตัดที่โรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ในซิดนีย์ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จดังกล่าว

โดยผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลียวัย 40 กว่าปีได้รับการปลูกถ่ายหัวใจเทียมแบบชั่วคราวซึ่งสามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้

นายแพทย์พอล จานซ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกผู้ทำการผ่าตัดกล่าวว่าชายคนดังกล่าวมีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง

“เขาไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ เพราะเขาไม่มีทางรอดชีวิตเพื่อกลับบ้านได้ หัวใจของเขาล้มเหลวอยู่ตลอด และเขาเป็นผู้ป่วยที่หัวใจทั้งสองข้างล้มเหลวด้วย เทคโนโลยีแบบเดิมของเราจึงไม่สามารถช่วยเขาได้ เขาสามารถพยุงชีวิตไว้ได้ แต่ก็ไม่ดีนัก ดังนั้นมันจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับเขา มันช่วยชีวิตเขาเอาไว้”
สิ่งที่ทำให้เขามีชีวิตรอดคือหัวใจไททาเนียมที่สร้างขึ้นโดยบริษัท BiVACOR ของออสเตรเลีย ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาค

นายแพทย์พอล จานซ์ บรรยายถึงนาทีที่อุปกรณ์นี้ใช้งานได้ว่า
มันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนกลั้นหายใจ เมื่อหัวใจเทียมเริ่มทำงาน จากนั้นคุณค่อยๆ ถอนเครื่องช่วยปอดและหัวใจที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ขณะที่คุณทำการผ่าตัด และหัวใจเทียมก็เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทน
นายแพทย์จานซ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการฝังอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้ป่วย 5 รายในสหรัฐอเมริกาได้รับการปลูกถ่ายหัวใจไททาเนียมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2024 แต่ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับหัวใจไททาเนียมมาก่อน

แต่ชายชาวออสเตรเลียรายนี้ได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 และได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แดเนียล ทิมม์ส หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของบริษัท BiVOCAR และนักประดิษฐ์หัวใจเทียม อยู่กับผู้ป่วยรายนี้เมื่อเขาออกจากโรงพยาบาล

“เขาเป็นคนอารมณ์ดี เขาเป็นคนดีมาก และเขาพูดกับผมอยู่บ่อยครั้งว่า ผมกำลังทำสิ่งนี้เพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวคนอื่นด้วย หากวิธีนี้ได้ผลดี อุปกรณ์นี้จะถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป และนั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาตกลงทดลองใช้เทคโนโลยีตัวนี้”
Journalist reports on an Australian man leaving hospital with a total artificial heart implant.
หัวใจไททาเนียมที่ทดลองใช้ในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในออสเตรเลีย Source: SBS
ศาสตราจารย์คริส เฮย์วูด ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจผู้ทำการปลูกถ่ายกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวใช้ชีวิตตามปกติได้ด้วยหัวใจเทียม

“เขาสามารถรับประทานอาหารได้ดี สามารถออกไปซื้อของและเดินเล่นได้ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการหายใจ”

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้รับการปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์เพื่อทดแทนหัวใจไททาเนียม ซึ่งแพทย์ระบุว่าเขากำลังฟื้นตัวได้ดี

สถิติระบุว่าชาวออสเตรเลียเกือบ 5,000 คนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวทุกปี

ความสำเร็จของอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความหวังว่าสักวันหนึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นสิ่งทดแทนหัวใจที่ล้มเหลวได้อย่างถาวร

“ภารกิจของเราคือการทำให้การปลูกถ่ายหัวใจไททาเนียมดีเท่ากับการปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์ หรือให้ดีกว่า การปลูกถ่ายหัวใจต้องใช้ยาป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ และอัตราการรอดชีวิตภายใน 10 ปี อยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น จึงมีโอกาสที่อุปกรณ์หัวใจเทียมจะก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นได้ นี่เป็นก้าวแรกในการทำเช่นนั้น และเรากำลังทำงานเพื่อให้มีการปลูกถ่ายหัวใจแบบไม่จำกัดจำนวนมากที่สุด”

ทั้งนี้คาดว่าผู้ป่วยชาวออสเตรเลียอีก 4 รายจะได้รับการปลูกถ่ายหัวใจไททาเนียมดังกล่าวในปีนี้ ร่วมด้วยกระบวนการวิจัยทางการแพทย์วิธีอื่น


ติดตามเอสบีเอส ไทย ได้อีกทาง | |

ฟังพอดคาสต์ของเอสบีเอส ไทยผ่านแอปพลิเคชัน SBS Audio ดาวน์โหลดจาก หรือจาก  

Share